ความสัมพันธ์กับไทย

ความสัมพันธ์ไทย - ลาว มีความใกล้ชิดทั้งในระดับรัฐบาล เอกชน และประชาชน และมีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ หลากหลายสาขา ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ลาว ครั้งที่ 22 ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2564 ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือที่ครอบคลุมรอบด้านทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อก้าวไปสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”  จึงถือเป็นยุคทองของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้การเดินทางเยือนและการจัดประชุมต่างๆ ในรูปแบบปกติที่มีการพบปะกันเป็นไปได้ยาก จึงได้มีการปรับรูปแบบการพบหารือของผู้นำทั้งสองประเทศเป็นรูปแบบการหารือทางโทรศัพท์และ การประชุมผ่านระบบทางไกล นอกจากนี้ ประเทศไทยและ สปป. ลาวยังได้เห็นพ้องที่จะขยายระยะเวลาการฉลองครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน (ครบรอบเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563) ไปจนถึงปลายปี 2564 โดยปรับรูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ

ด้านการเมืองและความมั่นคง

ความสัมพันธ์ระดับราชวงศ์

พระราชวงศ์ไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเสริม  สร้างความใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือน สปป. ลาว อยู่เสมอ เพื่อทรงเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ตลอดจนทรงเยี่ยมเยียนราษฎรชาวลาวและพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในสาขาการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาสุขอนามัยของเด็กและเยาวชนในแขวงต่าง ๆ ทั่วประเทศ 
 

กลไกความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

ประเทศไทย และ สปป. ลาว มีกลไกความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง โดยกลไกหรือกรอบความร่วมมือที่ดูแลภาพรวมความสัมพันธ์ทวิภาคี คือ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคิไทย - ลาว (Joint Commission : JC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม ประเด็นหารือในกรอบความร่วมมือนี้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน การเปิดจุดผ่านแดน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม แรงงาน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้าการลงทุน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เป็นต้น ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงยังมีกลไกในแต่ละสาขา ดังนี้
1. การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ประเทศไทยและ สปป. ลาวมีชายแดนร่วมกันเป็นระยะทาง 1,810 กิโลเมตร ทั้งชายแดนทางบกและทางน้ำ (แม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง) โดยมีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission : JBC) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งฝ่ายเป็นประธานร่วม เป็นกลไกในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน 

2. การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน การที่ประเทศไทยและ สปป. ลาวมีพรมแดนร่วมกันเป็นระยะทางยาวถึง 1,810 กิโลเมตร การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข จึงเป็นเรื่องสำคัญ หน่วยงานความมั่นคงที่มีบทบาทหลักในเรื่องนี้ คือ กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย โดยมีกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงป้องกันประเทศ สปป. ลาว คือ คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย - ลาว (General Border Committee : GBC) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ สปป. ลาว เป็นประธานร่วมจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2534
ต่อมา เมื่อปี 2536 GBC ได้ตั้งคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว (Sub-GBC) กำหนดประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามการปฏิบัติงานภายในกรอบนโยบาย GBC เสนอผลการดำเนินงาน และข้อพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างกองทัพความร่วมมือในการรักษาเส้นเขตแดน และปัญหายาเสพติด เป็นต้น

ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงป้องกันความสงบ สปป. ลาว ได้จัดตั้งกลไกประสานงานระดับสูงสุด คือ การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัด - เจ้าแขวงชายแดนไทย - ลาว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ สปป. ลาว เป็นประธานร่วม ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีชายแดนติดกัน สปป. ลาว จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และ สปป.ลาว มีแขวงที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย จำนวน 9 แขวง ได้แก่ บ่อแก้ว ไซยะบูลี เวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ บอลิคำไซ คำม่วน สะหวันนะเขต สาละวัน และจำปาสัก (แขวงเวียงจันทน์เป็นเขตการปกครองต่างหากจากนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวง)

ในระดับท้องถิ่น จังหวัดและแขวงชายแดนไทยลาวมีการประชุมประสานงานของคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย - ลาว ระดับจังหวัด - แขวง มีผู้ว่าราชการจังหวัดกับเจ้าแขวงเป็นประธานร่วม โดยมุ่งหวังให้สามารถแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ยุติในระดับท้องถิ่น ประเด็นสำคัญที่หารือกัน ได้แก่ การเปิดจุดผ่านแดน การอำนวยความสะดวกในการข้ามแดน และการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน

3. การดำเนินกิจกรรมในแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง แม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองเป็นแม่น้ำพรมแดนระหว่างประเทศ ในอดีตเคยมีปัญหาการลักลอบดูดทรายและปัญหาตลิ่งถูกกัดเซาะ ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตั้งคณะกรรมการร่วมไทย – ลาวเพื่อดูแลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (Joint Committee for Management on Mekong River and Heung River : JCMH) เพื่อเป็นกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานฝ่ายไทย

การเยือน/การหารือระดับสูง 

- เมื่อวันที่ 26 - 27 พฤศจิกายน 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เยือน สปป. ลาวอย่างเป็นทางการภายหลังเข้ารับตำแหน่ง 
- ฝ่ายลาวได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย - ลาว ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2561 ที่แขวงจำปาสัก โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เป็นประธานร่วม  
- ฝ่ายลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย - ลาว ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13 - 14 ธันวาคม 2561 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว (ในขณะนั้น) ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพฯ 
- ในปี 2564 นายกรัฐมนตรียังได้หารือทางโทรศัพท์กับฝ่ายลาวรวม 2 ครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีทองลุนฯ (ในขณะนั้น) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 เพื่อแสดงความยินดีกับนายพันคำ วิพาวัน ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สปป. ลาวคนใหม่
- เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ประชุมหารือทวิภาคีผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับ ฯพณฯ ดร. ไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติแห่ง สปป. ลาว  
- เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - จีน สมัยพิเศษ ณ นครฉงชิ่ง 
- ฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ลาว ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2564 ที่กรุงเทพฯ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เป็นประธานร่วม  

ประเด็นยาเสพติด

สปป. ลาว มีชายแดนติดกับหลายประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและจีน เมื่อมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงทางบก ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง ได้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ใน สปป.ลาว มากขึ้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงยาเสพติด รวมทั้งสารเคมีที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดมาผ่าน สปป.ลาว มากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติการจับกุมยาเสพติดใน สปป. ลาว ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา 

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 รัฐบาล สปป. ลาวได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในระดับทวิภาคีไทย - ลาว ยังมีกลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญ ดังนี้
 (1) แผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมดำเนินการ 6 ประเทศ เพื่อร่วมสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดผ่านพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ก่อนลำเลียงผ่าน สปป. ลาวเข้าสู่ประเทศไทย หรือส่งออกไปยังประเทศที่สาม 
 (2) คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป (Sub-GBC) ไทย - ลาว ซึ่งมีเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ 
 (3) สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และในปัจจุบันประเทศไทยกับ สปป. ลาว ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ในการขยายผลการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติดของ สปป. ลาวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านเศรษฐกิจ

ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับ 1 ของ สปป. ลาว และ สปป. ลาวเป็นคู่ค้าลำดับที่ 19 ของประเทศไทย การค้าไทย – ลาว ปี 2563 มีมูลค่า 197,443.44 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 0.7 โดยเป็นการนำเข้าจาก สปป. ลาว 93,426.12 ล้านบาท และการส่งออกจากประเทศไทย 104,017.33 ล้านบาท ประเทศไทยได้ดุลการค้า 10,591.21 ล้านบาท 

สินค้านำเข้าจาก สปป. ลาวที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่น ๆ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผักและผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ปูนซิเมนต์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช และแร่และผลิตภัณฑ์จากแร่

สินค้าส่งออกไป สปป. ลาวที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าปศุสัตว์ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องดื่ม 

การค้าชายแดนไทย – ลาวปี 2563 มีมูลค่า 189,836.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.14 ของมูลค่าการค้าไทย – ลาว ในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4 โดยเป็นการนำเข้าจาก สปป. ลาว 86,214 ล้านบาท และการส่งออกจากไทย 103,622 ล้านบาท ด่านที่มีมูลค่าการค้ารวมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ด่านหนองคาย ด่านมุกดาหาร ด่านทุ่งช้าง ด่านช่องเม็ก และด่านท่าลี่ 

การค้าผ่านแดนจากประเทศไทยผ่าน สปป. ลาวไปจีน เวียดนาม และสิงคโปร์ปี 2563 มีมูลค่ารวม 238,362.66 ล้านบาท ประกอบด้วยสินค้าผ่าน สปป. ลาวไปจีน 180,221.71 ล้านบาท เวียดนาม 54,624.81 ล้านบาท และสิงคโปร์ 3,516.14 ล้านบาท โดยด่านที่มีมูลค่าสินค้าผ่านแดนมากที่สุด คือ ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม ด่านเชียงของ ด่านเชียงแสน และด่านบึงกาฬ 


หมายเหตุ มูลค่าการค้าไทย - ลาว รวมมูลค่าการค้าชายแดน แต่ไม่รวมมูลค่าสินค้าผ่านแดน

ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยและลาว

1. อาเซียน

ลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 ได้เป็นประธานคณะกรรมการประจำ อาเซียนเมื่อกรกฎาคม 2547 ไทยได้ให้ความร่วมมือแก่ลาวเพื่อให้สามารถมี ส่วนร่วมในอาเซียนได้อย่างทัดเทียม กับประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า ทั้งในกรอบความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (IAI) การให้สิทธิพิเศษทางภาษี ศุลกากร (AISP) และการให้ความร่วมมือแก่ลาวเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 เมื่อ เดือน พฤศจิกายน 2547 โดยได้จัดการดูงานให้เจ้าหน้าที่ลาว สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับจัดตั้งศูนย์ข่าว มูลค่าประมาณ 11.80 ล้านบาท และให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อปรับปรุงสนามบินวัดไตมูลค่าประมาณ 320 ล้านบาท

2. ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS)

ลาวมีส่วนร่วมในกรอบ ACMECS อย่างแข็งขันโดยได้เป็น ประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับ ACMECS Plan of Action และทบทวนโครงการความร่วมมือในสาขา ต่างๆ ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2549 ที่กรุงเทพฯ และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS ระดับรัฐมนตรีที่เมือง ดอนโขง แขวงจำปาสัก ระหว่างวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2549 โครงการความร่วมมือไทย-ลาวในกรอบ ACMECS ที่มีความคืบหน้า อาทิ โครงการ Contract Farming และการให้ทุกฝึกอบรม เป็นต้น

3. ความร่วมมือในกรอบสามเหลี่ยมมรกต

ลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือใน กรอบสามเหลี่ยมมรกต ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2546 ที่แขวงจำปาสัก ที่ประชุมได้เห็นชอบปฏิญญาว่าด้วย ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวซึ่งมีสาระสำคัญมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อช่วย กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก และได้กำหนดพื้นที่ความร่วมมือ คือ ภาคตะวันออกเฉียง เหนือของไทย ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา และภาคใต้ของลาว ทั้งนี้ ไทยได้จัดสรรงบประมาณ 2 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงศูนย์ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกตที่แขวงจำปาสักด้วย

ประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนสะสมอันดับ 2 ใน สปป. ลาว รองจากจีน ในช่วงปี 2532 - 2563 ประเทศไทยลงทุนใน 764 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสะสม 4,716,379,166 ดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 17.74 ของมูลค่าการลงทุนสะสมจากต่างประเทศ สาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ขนส่งและโทรคมนาคม ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธนาคาร อุตสาหกรรมไม้แปรรูป เครื่องนุ่งห่ม และหัตถกรรม 

ในปี 2563 ประเทศไทยเป็นนักลงทุนอันดับ 7 ใน สปป. ลาว รองจากจีน เวียดนาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และฝรั่งเศส โดยมีมูลค่าการลงทุน 3,216,500 ดอลลาร์สหรัฐ ใน 9 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ

รัฐบาล สปป. ลาว มีนโยบายให้ สปป. ลาวเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” หรือแหล่งพลังงานสำรองในอนุภูมิภาค โดย สปป. ลาวมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าประมาณ 41,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยพลังงานน้ำ 25,000 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 6,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโครงการพลังงานไฟฟ้าใน สปป. ลาวที่มีขนาดตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป ที่ดำเนินการผลิตแล้วจำนวน 85 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 10,437.93 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 54,029.03 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี 

รัฐบาลไทยและ สปป. ลาวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าในลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นความร่วมมือในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าใน สปป. ลาวจำนวน 1,500 เมกะวัตต์ภายในปี 2543 และต่อมาได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2550 และฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาวเป็น 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2549 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 7,000 เมกะวัตต์ และ 9,000 เมกะวัตต์ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ตามลำดับ

ที่ผ่านมาโครงการไฟฟ้าที่ไทยรับซื้อทั้งหมดเป็นโครงการที่ผู้ประกอบการไทยได้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุน ผู้ก่อสร้าง และผู้จำหน่ายไฟฟ้า ปัจจุบันประเทศไทยได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาวแล้ว 10 โครงการ รวมกำลังการผลิต 5,935 เมกะวัตต์ ดังนี้

โครงการ

ปริมาณรับซื้อ (MW)

กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)

1. เทิน - หินบุน

214

มีนาคม 2541

2. ห้วยเฮาะ

126

กันยายน 2542

3. น้ำเทิน 2

948

เมษายน 2553

4น้ำงึม 2

597

มีนาคม 2554

5เทิน - หินบุนส่วนขยาย

220

ธันวาคม 2555

6. หงสาลิกไนต์

491

Unit 1: มิถุนายน 2558

491

Unit 2: พฤศจิกายน 2558

491

Unit 3: มีนาคม 2559

7. น้ำเงี้ยบ 1

269

กันยายน 2562

8. ไซยะบูลี

1,220

ตุลาคม 2562

9. เซเปียน - เซน้ำน้อย

354

ธันวาคม 2562

10. น้ำเทิน 1

514

มกราคม 2565


ประเทศไทยและ สปป. ลาวร่วมกันพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำโขง 5 แห่ง ดังนี้

1. สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย - เวียงจันทน์) เปิดใช้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2537
2. สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) เปิดใช้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550
3. สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) เปิดใช้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554
4. สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 4 (เชียงราย – บ่อแก้ว) เปิดใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556
5. สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) อยู่ระหว่างก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย – ลาว (เลย – ไซยะบูลี) เปิดใช้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547
ปัจจุบันสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (NEDA) ให้ความช่วยเหลือแก่ สปป. ลาวเพื่อพัฒนาเครือข่ายคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด 34 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 15,511.86 ล้านบาท ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน (Financial Assistance : FA) จำนวน 22 โครงการ มูลค่า 15,322.86 ล้านบาท และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance : TA) จำนวน 12 โครงการ มูลค่า 189 ล้านบาท และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของ สปป. ลาวได้เข้ารับการฝึกอบรมในโครงการของ NEDA ในหลักสูตรต่าง ๆ เช่น Road Safety Engineering Workshop / Debt Management and Fiscal Issues/ Trade Facilitation and Logistics Development / หลักสูตรนวัตกรรมทางการเงิน (Innovative Financial) เป็นต้น 

การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน (FA) มี 22 โครงการ ดังนี้ 
1. โครงการก่อสร้างเส้นทางเชียงราย - คุนหมิงผ่าน สปป. ลาว (R3A) รัฐบาลไทย จีน และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ให้ความช่วยเหลือ สปป. ลาวในรูปเงินกู้เพื่อพัฒนาเส้นทางดังกล่าวคนละส่วน ในส่วนของไทย ให้ สปป. ลาวกู้วงเงิน 1,385 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างเส้นทางจากเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว ถึงแขวงหลวงน้ำทา ระยะทาง 84.77 กิโลเมตร เส้นทาง R3 เป็นส่วนหนึ่งของ North-South Economic Corridor ในกรอบความร่วมมือ Greater Mekong Sub-region (GMS) ทำพิธีเปิดใช้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551 ในช่วงการประชุมสุดยอด GMS ครั้งที่ 3 ที่ สปป. ลาว

2. โครงการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางห้วยโก๋น (จ.น่าน) – เมืองเงิน - ปากแบ่ง แขวงอุดมไซ วงเงิน 840 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 30 และให้กู้ร้อยละ 70) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 เป็นการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางระยะทาง 49.22 กิโลเมตร โครงการดังกล่าวส่งเสริมความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างของไทยที่จังหวัดน่านกับภาคเหนือของ สปป. ลาวที่แขวงไซยะบูลีและแขวงอุดมไซ เส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนามได้ 

3. โครงการก่อสร้างทางรถไฟหนองคาย - ท่านาแล้ง (ระยะที่ 1) วงเงิน 197 ล้านบาท (ให้เปล่า
ร้อยละ 30 และให้กู้ร้อยละ 70) แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2551 เป็นการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงระหว่างไทยกับ สปป. ลาวได้รับการพิจารณาว่ามีความคุ้มค่าและมีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นช่องทางขนส่งสินค้าไปสู่ท่าเรือน้ำลึกที่ภาคตะวันออกของไทย ซึ่งสะพานมิตรภาพไทย – ลาว จังหวัดหนองคายได้ถูกออกแบบไว้สำหรับรองรับการก่อสร้างทางรถไฟด้วยแล้ว โครงการฯ ระยะที่ 1 เป็นการก่อสร้าง
ทางรถไฟจากกึ่งกลางสะพานมิตรภาพถึงบ้านท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และนายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศลาว (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ไทย – ลาว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552

4. โครงการปรับปรุงสนามบินระหว่างประเทศวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ วงเงิน 320 ล้านบาท 
(ให้เปล่าร้อยละ 30 และให้กู้ร้อยละ 70) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นการปรับปรุงและขยายทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดเครื่องบิน เพี่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 

5. โครงการก่อสร้างร่องระบายน้ำฮ่องวัดไต วงเงิน 160 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 30 และให้กู้
ร้อยละ 70) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เป็นการก่อสร้างร่องระบายน้ำระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ในนครหลวงเวียงจันทน์ 

6. โครงการปรับปรุงสนามบินปากเซ วงเงิน 320 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 30 และให้กู้ร้อยละ 70) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 เป็นการปรับปรุงสนามบินให้ได้มาตรฐานสนามบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับเครื่องบินที่มีขนาดบรรจุผู้โดยสารได้ 150 ที่นั่ง โดยขยายทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดเครื่องบิน และติดตั้งอุปกรณ์การบินที่จำเป็น รวมทั้งปรับปรุงหอบังคับการบิน 

7. โครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 3 ช่วงห้วยซาย – บ้านสอด วงเงิน 205 ล้านบาท (ให้กู้ร้อยละ 100) แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555

8. การปรับราคาวัสดุก่อสร้าง (Price Adjustment) สำหรับโครงการก่อสร้างเส้นทางหมายเลข 3 วงเงิน 200 ล้านบาท (ให้กู้ร้อยละ 100)

9. โครงการปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำในนครหลวงเวียงจันทน์ วงเงิน 250 ล้านบาท (ให้กู้
ร้อยละ 100) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ประกอบด้วยการปรับปรุงถนนอาเซียน (T2) ช่วงที่ 1 ก่อสร้างเส้นทางเท้าและท่อระบายน้ำ พร้อมราดยางผิวจราจรช้ำ ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 ราดยางผิวจราจรช้ำระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 ขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรพร้อมทางเท้าและท่อระบายน้ำระยะทาง 300 เมตร การก่อสร้างร่องระบายน้ำบริเวณคลองทุ่งสร้างนางระยะทาง 1 กิโลเมตร และการพัฒนาและปรับปรุงบึงหนองด้วงเพื่อเป็นแก้มลิงสำหรับกักเก็บน้ำและสวนสาธารณะ 

10. โครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงบ้านตาดทอง – บ้านน้ำสัง และเมืองสังทอง 
นครหลวงเวียงจันทน์ วงเงิน 1,392 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 30 และให้กู้ร้อยละ 70) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ประกอบด้วยการปรับปรุงถนนจากบริเวณบ้านตาดทอง ถึงบ้านน้ำสัง ระยะทาง 56 กิโลเมตร และการเชื่อมเส้นทางจากบ้านปากตอนไปยังเมืองสังทอง ระยะทาง 17 กิโลเมตร และจากเมืองสังทองกลับมาบรรจบถนนเส้นทางหลักที่บ้านโคกแห้ ระยะทาง 9 กิโลเมตร รวมระยะทาง 82 กิโลเมตร เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเลียบแม่น้ำโขงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางหมายเลข 4 (เมืองปากลาย แขวงไซยะบูลี – แขวงหลวงพระบาง) ซึ่งเป็นเส้นทางหลักอีกสายหนึ่งสำหรับการคมนาคมในภาคเหนือของ สปป. ลาว 

11. โครงการปรับปรุงถนนในนครหลวงเวียงจันทน์สำหรับการเป็นเจ้าภาพ ASEM Summit ครั้งที่ 9 วงเงิน 190.70 ล้านบาท (ให้กู้ร้อยละ 100) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เป็นการปรับปรุงเส้นทางสายหลักที่จะเป็นเส้นทางสัญจรของขบวนรถผู้นำประเทศ รวมระยะทาง 18.35 กิโลเมตร ประกอบด้วยถนนล้านช้าง ถนนไกสอน พมวิหาน ถนนฟ้างุ้ม ถนนดงป่าลาน ถนนคูเวียง ถนนขุนบุลม และถนนคูเวียง 

12. โครงการก่อสร้างถนนจากภูดู่ - เมืองปากลาย แขวงไซยะบูลี วงเงิน 718 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 20 และให้กู้ร้อยละ 80) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เป็นการก่อสร้างถนนจากบ้านภูดู่ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ถึงเมืองปากลาย แขวงไซยะบูลี ประกอบด้วยเส้นทางจากด่านช่องภูดู่ - บ้านแก่งสาว เมืองปากลาย ระยะทาง 27.6 กิโลเมตร และเส้นทางบริเวณบ้านผาแก้ว รวมระยะทาง 32 กิโลเมตรและการก่อสร้างอาคารด่านชายแดน 

13. โครงการปรับปรุงสนามบินปากเซ ระยะที่ 2 วงเงิน 184 ล้านบาท (ให้กู้ร้อยละ 100) แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2557 ประกอบด้วยการก่อสร้างและติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบินและการจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จำเป็นภายในอาคารผู้โดยสารเพื่อให้ได้มาตรฐาน ICAO
 
14. โครงการปรับปรุงร่องระบายน้ำในนครหลวงเวียงจันทน์ วงเงิน 95.40 ล้านบาท (ให้กู้ร้อยละ 100) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เป็นการปรับปรุงบึงหนองด้วงน้อยให้เป็นแก้มลิงย่อย การปรับปรุงร่องระบายน้ำหนองด้วงน้อย งานสร้างทางบริการ และระบบระบายน้ำชั่วคราว 

15. โครงการพัฒนาระบบประปาใน สปป. ลาว วงเงิน 310 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 1.62 และให้กู้ร้อยละ 98.38 ) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2559 เป็นการก่อสร้างโรงกรองน้ำและท่อจำหน่ายน้ำใน 5 แขวง ได้แก่ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว เมืองคอบ แขวงไชยะบูลี เมืองแบ่ง แขวงอุดมไซ เมืองไชบุลี แขวงสะหวันนะเขต เมืองโขง แขวงจำปาสัก 

16. โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในนครหลวงเวียงจันทน์ วงเงิน 313.37 ล้านบาท (ให้กู้
ร้อยละ 100) แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560 เป็นการปรับปรุงพื้นผิวจราจรทางเดินเท้า ร่องระบายน้ำ ระบบส่องสว่าง และส่วนที่เกี่ยวข้องสำหรับเส้นทางหลักที่ใช้เดินทางไปศูนย์ประชุมแห่งชาติในนครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 9.54 กิโลเมตร
 
17. โครงการก่อสร้างถนนบ้านฮวก - เมืองคอบ - บ้านปากคอบ – บ้านก้อนตื่น และเมืองคอบ – เมืองเชียงฮ่อน วงเงิน 1,390 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 20 และให้กู้ร้อยละ 80) แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2559 เป็นการก่อสร้างถนนรวมระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร ประกอบด้วย (1) ถนนช่วงบ้านฮวก – เมืองคอบ – เมืองเชียงฮ่อน ระยะทาง 62.60 กิโลเมตร (2) ถนนช่วงเมืองคอบ – บ้านปากคอบ – บ้านก้อนตื่น ระยะทาง 24.62 กิโลเมตร (3) เส้นทางย่อยจากบ้านปากคอบถึงริมแม่น้ำโขง ระยะทาง 2 กิโลเมตร (4) ถนนในเมืองคอบ ระยะทาง 8 กิโลเมตร (5) ถนนในเมืองเชียงฮ่อน ระยะทาง 12.93 กิโลเมตร และการงานก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนบ้านปางมอน แขวงไซยะบูลี (ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา) เส้นทางดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการขนส่งสินค้า การค้าชายแดน และการท่องเที่ยวเนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือของไทยกับ สปป. ลาว และยังสามารถเดินทางต่อไปยังจีน (คุนหมิง) และเวียดนาม (เดียนเบียนฟู) ต่อไปได้โดยใช้ถนนหมายเลข 3 และ 4

18. โครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา – บ้านเซียงแมน (เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง) วงเงิน 1,977 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 20 และให้กู้ร้อยละ 80) แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เป็นการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา แขวงไซยะบูลี ถึงบ้านเชียงแมน เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 114 กิโลเมตร เส้นทางดังกล่าวเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ผ่านจุดผ่านแดนถาวรห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพื่อเดินทางไปสู่แขวงหลวงพระบาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนใน สปป. ลาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมโยงถนนหมายเลข 4 และ 13 และจะทำให้การเดินทางจากไทยไปยังกรุงฮานอย เวียดนาม ผ่านถนนหมายเลข 4 และ 6 ใน สปป. ลาวมีความสะดวกและใช้ระยะเวลาเดินทางสั้นลง

19. โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง – เวียงจันทน์ (ระยะที่ 2) วงเงิน 1,650 ล้านบาท 
(ให้เปล่าร้อยละ 30 และให้กู้ร้อยละ 70) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 งานสร้างกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (container yard) ระบบอาณัติสัญญาณ อาคารสำนักงาน อาคารที่พัก เส้นทางงานระบบรถไฟหลักระยะทาง 7.75 กิโลเมตร จากสถานีท่านาแล้ง - นครหลวงเวียงจันทน์ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2558 และส่วนที่ 2 งานก่อสร้างสถานีเวียงจันทน์ ระบบรางรถไฟหลักจากสถานีท่านาแล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ ระบบรางรถไฟหลักเริ่มจากสถานีท่านาแล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร งานระบบอาณัติสัญญาณ บ้านพักเจ้าหน้าที่ ทางเข้าสถานีเวียงจันทน์ และงานจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง

20. โครงการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 11 ช่วงบ้านตาดทอง - น้ำสัง และเมืองสังทอง (R11) 
วงเงิน 1,826.50 ล้านบาท (ให้กู้ร้อยละ 100) เป็นการปรับปรุง R11 ช่วงครกข้าวดอ – บ้านโนนสะหวัน – สานะคาม – บ้านวัง - บ้านนาสัง ระยะทาง 124 กิโลเมตร และการซ่อมแซม R11 ช่วงบ้านตาดทอง ระยะทาง 150 เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ

21. โครงก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) วงเงิน 1,380.07 ล้านบาท (ให้กู้ร้อยละ 100) แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงในฝั่งลาว ระยะทาง 0.535 กิโลเมตร การก่อสร้างถนนและด่านพรมแดนฝั่งลาว ระยะทาง 2.860 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ

22. โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน ASEAN Single Window วงเงิน 18.82 ล้านบาท (ให้เปล่าร้อยละ 100) เป็นการพัฒนาระบบ hardware และ software รวม 3 ระบบ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ (1) ระบบ National Single Window - Routing Platform (NSW - RP) เพื่อส่งผ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA e-Form D) กับประเทศสมาชิกอาเซียน (2) โปรแกรมใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate of Origin: e-CO) ให้สามารถส่งข้อมูล ATIGA e-Form D รวมถึงรับข้อมูลตอบกลับจากประเทศสมาชิกอาเซียนผ่าน ASW และ (3) โปรแกรมการดูข้อมูล e-CO ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NSW - RP ให้สามารถรับข้อมูล ATIGA e-Form D จากต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในการค้นหาข้อมูลจาก ATIGA e–Form D อยู่ระหว่างดำเนินการ

การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance: TA) จำนวน 12 โครงการ ดังนี้
1. งานศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบเบื้องต้นโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 
(สามแยกสีไค - บ้านน้ำสัง และบ้านปากดอน - เมืองสังทอง - บ้านนาสา) วงเงิน 8 ล้านบาท
2. การออกแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคาสำหรับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายท่านาแล้ง – นครหลวงเวียงจันทน์ วงเงิน 10 ล้านบาท
3. การศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างถนนจากบ้านภูดู่ – เมืองปากลาย วงเงิน 8 ล้านบาท
4. การศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบเบื้องต้นสำหรับโครงการพัฒนาเส้นทางจากบ้านฮวก จังหวัดพะเยา - เมืองคอบ - เมืองปากทา - เมืองปากคอบ - เมืองเชียงฮ่อน – เมืองคอบ วงเงิน 16 ล้านบาท
5. การศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบเบื้องต้นสำหรับโครงการพัฒนาถนนจากเมืองหงสา - บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง) วงเงิน 16 ล้านบาท
6. การสำรวจและออกแบบการปรับปรุงระบบน้ำประปาและพัฒนาเมือง 12 แห่ง วงเงิน 18 ล้านบาท
7. การสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการปรับปรุงถนนช่วงบ้านฮวก จังหวัดพะเยา - เมืองคอบ – เมืองเชียงฮ่อน และเมืองคอบ - เมืองปากคอบ – บ้านก้อนตื่น วงเงิน 18 ล้านบาท
8. งานออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาถนนจากเมืองหงสา - บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง) วงเงิน 18 ล้านบาท
9. การศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบก่อสร้างโครงการก่อสร้างสายส่ง 115 กิโลวัตต์ และสถานีไฟฟ้าช่วงน้ำทง – ห้วยซาย วงเงิน 15 ล้านบาท
10. การออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน - สานะคาม - บ้านวัง – บ้านน้ำสัง วงเงิน 20 ล้านบาท
11. โครงการพัฒนาถนนหมายเลข 12 (R12) (ท่าแขก - ยมมะลาด - บัวละพา - นาเพ้า) 
วงเงิน 18 ล้านบาท
12. งานออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างสะพานเชียงแมน – หลวงพระบาง วงเงิน 24 ล้านบาท


สถานีรถไฟของโครงการก่อสร้างทางรถไฟท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 

พิธีรับมอบและเปิดใช้อย่างเป็นทางการโครงการก่อสร้างถนนจาก
เมืองหงสา - บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป.ลาว


ถนน 4B (หงสา - เชียงแมน)

พิธีเปิดเดินขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนเที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างรัฐบาล
ไทยกับรัฐบาล สปป.ลาว

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

ประเทศไทยและ สปป. ลาว มีความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างใกล้ชิด โดยได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ (POA) ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่ง สปป. ลาว ว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ ปี 2562 - 2564 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตราที่ 19 ข้อ (ก) ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ที่ได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่แขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว นอกจากนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างสนับสนุน สปป. ลาว ในการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย - ลาว ที่นครหลวงเวียงจันทน์เพื่อให้ความช่วยเหลือแบบครบวงจรแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ดำเนินบทบาทด้านการประสานงานระหว่างฝ่ายไทยคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับฝ่ายลาว คือ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เพื่อจัดทำกิจกรรมและความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การศึกษาดูงาน การฝึกอบรม การประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการทำงาน และการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน 

ความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน

ประเทศไทยและ สปป. ลาวได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 และต่อมาได้จัดทำข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 เพื่อบริหารจัดการแรงงานลาวให้เป็นระบบและได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของทั้งสองประเทศที่ประสงค์จะให้มีการจ้างแรงงานอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมให้แรงงานเดินทางเข้า - ออกประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ มีภารกิจในการตรวจลงตราประเภท “Non – LA” ให้กับบุคคลที่ผ่านกระบวนการของกระทรวงแรงงานของทั้งสองประเทศ และมีภารกิจในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงานไทย - ลาว และการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงาน ซึ่งจัดขึ้นทุกปีเพื่อหารือเรื่องแนวทางความร่วมมือ อุปสรรคที่เกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่ออำนวยความสะดวกและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในระบบดังกล่าว


ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ได้ร่วมกับ สปป.ลาวจัดทำแผนความร่วมมือวิชาการเพื่อการพัฒนา ไทย - ลาว ระยะ 3 ปี (2563 - 2565) โดยมีโครงการเพื่อการพัฒนาที่ฝ่ายไทยพร้อมให้การสนับนุนและร่วมมือกับฝ่ายลาว จำนวน 53 โครงการ ใน 7 สาขา คือ สาขาการเกษตร สาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้า อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคมและธรรมาภิบาล การดำเนินการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีกับ สปป. ลาว และเป็นโอกาสสำหรับบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน ในการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้านระหว่างสองประเทศต่อไป

การส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระดับประชาชนต่อประชาชนผ่านสมาคมไทย – ลาวเพื่อมิตรภาพ

สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพเป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งในการส่งเสริมความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยมีโครงการด้านสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ อาทิ (1) กฐินพระราชทาน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 สมาคมไทย – ลาวเพื่อมิตรภาพและกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกันเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายที่วัดพระธาตุหลวงเหนือ นครหลวงเวียงจันทน์ และ (2) โครงการโรงเรียนเพื่อนมิตรไทย - ลาว โดยสมาคมไทย - ลาวเพื่อมิตรภาพ (โดยการสนับสนุนงบประมาณจากระทรวงการต่างประเทศ) ได้บริจาคงบประมาณ 7 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนที่โรงเรียนประถมสมบูนไซยะบูลี แขวงไซยะบูลี เพื่อฉลองครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับ สปป. ลาว 

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชนใน สปป. ลาว

โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริ อาทิ โครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน - ห้วยซั้ว (หลัก 22) และโครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67)ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ ยังมีโครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยจำปาสัก และโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หนองเต่า) บ้านโพนสิม เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต  

ความร่วมมือด้านเด็ก สตรี ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - ลาวระดับ ประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย - ลาวและเพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นไปอย่างทั่วถึง สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สตรี ผู้พิการ และ ผู้ด้อยโอกาส ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ 

- สนับสนุนการจัดกิจกรรมในพิธีเปิดวังเยาวชนและหอมูลเชื้อซาวหนุ่ม - เยาวชนลาว  โดยวังเยาวชนจะเป็นสถานที่ในการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของ สปป. ลาว เป็นแหล่งส่งเสริมกีฬาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งภายใน สปป. ลาว และต่างประเทศ  
- สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้แก่ศูนย์พัฒนาแม่หญิงพิการลาว นครหลวงเวียงจันทน์ 
- สนับสนุนอาหารแห้งและสิ่งของจำเป็นสำหรับโรงเรียนศึกษาพิเศษ นครหลวงเวียงจันทน์ โดยเป็นหนึ่งในโครงการจิตอาสา และเป็นการดำเนินงานร่วมกันตามกลไกประชารัฐระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานของ สปป. ลาวที่เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนใน สปป. ลาว 
- สนับสนุนงบประมาณให้แก่ศูนย์พัฒนาวิชาชีพศูนย์กลางซาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพฝีมือแรงงานของซาวหนุ่มลาว โดยได้เปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพที่สำคัญ ได้แก่ การตัดเย็บ เสริมสวย ช่างไฟฟ้า ช่างทั่วไป และ ช่างซ่อมจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาวิชาชีพดังกล่าวให้การอบรมแก่เยาวชนลาว อายุระหว่าง 18 – 35 ปี จากทั่วประเทศ 
- ดำเนินโครงการในการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและการรักษาผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชน ร่วมกับกรมเยาวชน ศูนย์กลางซาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิของตน อีกทั้งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และเยาวชนใน สปป. ลาว 
- สนับสนุนงบประมาณในการซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนและซ่อมแซมหลังคาสนามเด็กเล่นโรงเรียนอนุบาลอากาด ซึ่งมีนักเรียนอายุระหว่าง 3 - 5 ปี จำนวน 100 คน โดยส่วนมากเป็นเด็กนักเรียนที่มีความลำบากและครอบครัวมีฐานะยากจน
- ดำเนินโครงการการฝึกอบรมวิชาชีพแม่หญิงยากจนและด้อยโอกาส ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมแม่หญิงลาว ศูนย์กลางสหพันธ์แม่หญิงลาว
- สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อและบูรณะอุปกรณ์กองดุริยางค์ของกรมเยาวชนและสนับสนุนการฝึกอบรมกองดุริยางค์ใน 18 แขวงทั่วประเทศ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่กรมเยาวชนและศูนย์กลางซาวหนุ่มฯ มีความชำนาญเพื่อให้สามารถถ่ายทอดทักษะความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่แขวงต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่นเพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์และเครื่องดุริยางค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ร่วมกับศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนมัธยมตอนต้นสงฆ์ เมืองละคอนเพ็งและเมืองคงเซโดน แขวงสาละวัน

สถิติที่สำคัญไทย-ลาว

มูลค่าการค้าไทย-ลาวไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับ 1 ของ สปป. ลาว และ สปป. ลาวเป็นคู่ค้าลำดับที่ 19 ของไทย การค้าไทย - ลาวปี 2563 มีมูลค่า 197,443.44 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 0.7 โดยเป็นการนำเข้าจาก สปป. ลาว 93,426.12 ล้านบาท และการส่งออกจากไทย 104,017.33 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 10,591.21 ล้านบาท 
สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญน้ำมันสำเร็จรูป สินค้าปศุสัตว์ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องดื่ม 
สินค้านำเข้าจากลาวที่สำคัญเชื้อเพลิงอื่น ๆ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผักและผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ปูนซิเมนต์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช และแร่ละผลิตภัณฑ์จากแร่ 
การลงทุนของไทยในลาวไทยเป็นประเทศผู้ลงทุนสะสมลำดับ 2 ใน สปป. ลาว รองจากจีน โดยระหว่างปี 2532 - 2563 มีทั้งหมด 764 โครงการในสาขาสำคัญ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ขนส่งและโทรคมนาคม ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธนาคาร อุตสาหกรรมไม้แปรรูป เครื่องนุ่งห่ม และหัตถกรรม คิดเป็นมูลค่าสะสม 4,716,379,166 ดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 17.74 ของมูลค่าการลงทุนสะสมจากต่างประเทศ
การท่องเที่ยวในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปลาว 350,103 คน (ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 84) คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของนักท่องเที่ยวต่างประเทศใน สปป. ลาว (ร้อยละ 39.5) ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวลาวเดินทางเข้าไทย 380,917 คน (ร้อยละ 5.67 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไทย) ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 79.36
จำนวนคนไทยในลาวประมาณ 2,500 คน เป็นนักธุรกิจและคนไทยที่มีครอบครัวใน สปป. ลาวประมาณ 500 คน และเป็นแรงงานทำงานในโครงการเหมืองทอง/ทองแดง โครงการไฟฟ้า และโครงการอื่น ๆ ประมาณ 2,000 คน (ส่วนมากอยู่ในแขวงไซยะบูลี)
สำนักงานของไทยในลาวสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต
สำนักงานของลาวในไทยสถานเอกอัครราชทูตลาว ณ กรุงเทพฯ และสถานกงสุลใหญ่ลาว ณ จังหวัดขอนแก่น
ประเด็นคั่งค้าง
การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน การแก้ไขความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดน การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามแดน