เกร็ดการทำธุรกิจ

ไขประตูสู่ลาว (File : Lao booklet 3rd ed)

ไทยและลาวสนิทเหมือนญาติมิตร
ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำโขงมีสายสัมพันธ์ฉันพี่น้องมาแต่โบราณกาล
เหมือนดั่งคำพูดที่ชาวไทย และชาวลาวพูดกันมาแต่เก่าก่อนว่าข้ามโขง
"ไปเอาพริกที่บ้านเหนือ ไปเอาเกลือที่บ้านใต้"
ยุคสมัยแม้เปลี่ยนไป แต่ความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันยังดำรงคงอยู่


อย่างไรก็ตาม ประเทศ ลาวก็อยู่ใกล้เสียจนคนไทย ทั่วไปอาจมองข้าม และอาจลืมที่จะทำความรู้จักประเทศลาวอย่างรอบด้าน และลึกซึ้ง บ่อยครั้งที่คนไทยรับรู้ภาพลักษณ์ ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดแห่งนี้อย่างน่าแปลกใจ

การทำความรู้จักประเทศใดประเทศหนึ่งให้ได้ดีที่สุด คือการศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ด้วยการเดินทางไปเยือนและมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง ชื่อคู่มือ "ไขประตูสู่ลาว" การ "เปิดประตู" จึงมี นัยความหมายว่า "ทำความรู้จัก" ก่อนไปลาว ยิ่งประชาชนไปมาหาสู่กันมากและ "รู้เขา รู้เรา" มากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดความรู้สึกผูกพันกันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อันจะช่วยนำมาซึ่งความรู้สึก ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้นในที่สุด


ในปี 2551 คนไทยเดินทางไปลาวจำนวน 890,000 คน (ข้อมูลองค์การท่องเที่ยวแห่งชาติลาว) คนลาวเดินทางไปไทยจำนวนมากกว่า 600,000 คน (ข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) เส้นทางคมนาคม ที่ทันสมัยโดยเฉพาะสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 ที่หนองคาย-เวียงจันทน์ สะพานแห่งที่ 2 ที่มุกดาหาร- สะหวันนะเขต และอีก 2 แห่งที่นครพนม-คำม่วนและเชียงราย-บ่อแก้ว ซึ่งจะสร้างเสร็จในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเอื้ออำนวยให้คนไทย และคนลาวเดินทางข้ามไปมาได้สะดวกง่ายดายกว่าเดิมมาก

สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ได้รวบรวมประสบการณ์ และข้อมูลเกี่ยวกับลาวที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ เช่น การเดินทางข้ามแดน วิถีชีวิตและธรรมเนียมปฏิบัติของชาวลาว สถานที่สำคัญ ภาษาลาวที่พบในชีวิตประจำวัน รวมทั้งที่พักและร้านอาหาร เพื่อช่วยให้คนไทยเตรียมตัวไป ลาวได้อย่างเข้าใจดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะไปในฐานะใด และเนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เดินทางเข้าประเทศลาวผ่าน นครหลวงเวียงจันทน์ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้พยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนครหลวงแห่งนี้มากกว่า เมืองอื่นๆ ของ สปป.ลาว สถานเอกอัครราชทูตฯ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้ผู้อ่านรู้จักและเข้าใจ ประเทศลาวได้อย่างลึกซึ้งกว้างขวางมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งรากฐานของมิตรภาพที่ยั่งยืนทั้งในระดับประชาชน และระดับประเทศต่อไป

 



กลับหน้าหลัก