เกาะติดข่าว

พัฒนาการระบบ National Single Window (LNSW) ของ สปป. ลาว

รัฐบาล สปป. ลาวกำหนดให้ความร่วมมือ ด้านการเชื่อมโยงการค้า และการลงทุนกับภูมิภาคและนานาชาติ เป็นหนึ่งในเป้าหมาย
หลักตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564-2568) โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดอุปสรรคทางการค้า
 การลงทุน และตั้งเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และร่วมมือทาง
การค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป. ลาว อย่างยั่งยืนต่อไป

เพื่อปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล สปป. ลาว และดำเนินการตามสัญญาว่าด้วยการก่อตั้งและดำเนินการระบบการเชื่อมโยง
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ของประเทศสมาชิกอาเซียน ASEAN Single Window (ASW) ปี 2548 สปป. ลาว จึงเริ่มเตรียม
ดำเนินการ Lao National Single Window (LNSW) ตั้งแต่ปี 2556 โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างดี
ต่อมาเมื่อปี 2558 กระทรวงการเงิน สปป. ลาว ได้ออกข้อตกลงว่าด้วยการก่อตั้งและดำเนินการสำหรับการพัฒนา ดำเนินการปฏิบัติ
และดำเนินงานระบบ LNSW

ทั้งนี้ ระบบ ASW พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านเอกสารการค้า ผ่านแดนระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะในภูมิภาค ซึ่งอาเซียนถือเป็นภูมิภาคแรกของโลกที่ริเริ่มก่อตั้งระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวระดับ
ภูมิภาค ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของประเทศสมาชิกเป็นระบบเดียวกัน
สามารถส่งข้อมูลครั้งเดียวเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้อย่างสะดวก

ระบบ LNSW เป็นการร่วมทุนระหว่างกระทรวงการเงิน สปป. ลาว และบริษัท BIVAC (Lao) จำกัด เพื่อจัดทำระบบแจ้งเอกสาร
และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างภาครัฐและภาคธุกิจที่มีการนำเข้า ส่งออก และ การนำเข้าสินค้าผ่านแดน โดย สปป. ลาว
อยู่ในช่วงเริ่มต้นในการพัฒนาระบบ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนานโยบาย และระเบียบที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาครัฐ
และภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความเข้าใจ และรวบรวมปัญหาการให้บริการในการดำเนินการของระบบแจ้งภาษี
ประตูเดียวแห่งชาติและกลไกอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง กับระบบ และจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของระบบ
การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวแห่งชาติต่อไป

สปป. ลาวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจแบบดิจิทัล จึงยังต้องกำหนดนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุน
การดำเนินการ รวมทั้งคำแนะนำเพื่อประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบให้ทันสมัย แม้ว่า ระบบ LNSW จะเปิดใช้
อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ในบางขั้นตอนยังไม่สามารถดำเนินการอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องใช้ระบบเดิมร่วมด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินระบบ LNSW ยังต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากระบบยังมีข้อจำกัด อีกทั้งภาคธุรกิจ
ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับระบบฯ และกลไกเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังพบปัญหา
ทางด้านเทคนิคในการเชื่อมโยงกับระบบธนาคารเพื่อชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง การขาดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้า
อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่รวดเร็วนัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ของ สปป.ลาว ได้พยายามปรับปรุงแก้ไขและมุ่งเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ
อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสารและ อื่น ๆ โดยเครื่องมือเหล่านี้มีความจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง พัฒนาและ
การสนับสนุน เพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินการให้เป็นระบบเดียว

หากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของประเทศทั้งหมดสามารถเข้าถึงระบบ LNSW ได้อย่างครบวงจร
จะช่วยลดขั้นตอนการยื่นเอกสาร ลดระยะเวลาในการเดินทางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยง
และระยะเวลาในการอนุมัติเอกสารต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสในการจัดเก็บรายได้เข้าภาครัฐและ
ความมั่นใจในการใช้บริการของภาคเอกชนอีกด้วย

ปัจจุบัน ด่านภาษีสากลและห้องการภาษีประจำเขตที่สามารถใช้ระบบ LNSW ใน สปป. ลาว มีทั้งหมด 11 แห่ง ประกอบด้วย
(1) ด่านภาษีสากลสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 1 (เวียงจันทน์-หนองคาย) (2) ด่านภาษีสากลสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 2
(สะหวันนะเขต - มุกดาหาร) (3) ด่านภาษีสากลสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 3 (คำม่วน - นครพนม) (4) ด่านภาษีสากลนาเพ้า
แขวงคำม่วน (5) ด่านภาษีสากลแดนสะหวัน แขวงสะหวันนะเขต (6) สำนักงานภาษีประจำเขตเศรษฐกิจเฉพาะท่าแขก
แขวงคำม่วน (7) ด่านภาษีสากลบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา (8) สำนักงานภาษีประจำเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน
แขวงสะหวันนะเขต (9) ด่านภาษีสากลวังเต่า แขวงจำปาสัก (10) สำนักงานภาษีประจำท่าบกวังเต่า แขวงจำปาสัก
และ (11) ด่านภาษีสากลหนองนกเขียน แขวงจำปาสัก

ข้อมูลอ้างอิง
https://eriit.moic.gov.la/researcheriitlao/
https://www.laonsw.net/web/epermitsv2/regulatory-documentation
https://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/display&id=2563

11/18/2022



กลับหน้าหลัก