เกาะติดข่าว

พัฒนาการอุตสาหกรรมตัดเย็บของ สปป. ลาว

อุตสาหกรรมตัดเย็บเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้การส่งเสริมเพื่อลดการพึ่งพาและสร้างรายได้
จากทรัพยากรธรรมชาติไปสู่ การผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเบา (Light Industry) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย
สร้างงาน ให้แก่ประชาชน ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสามารถสร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศอีกด้วย

ในปี 2564 ภาคอุตสาหกรรม สปป. ลาวมีอัตราการขยายตัวคิดเป็นร้อยละ 34 ของ GDP (ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.65 เมื่อเทียบ
กับปีที่ผ่านมา) โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.10 ของภาคอุตสาหกรรม
ทั้งหมด และอยู่ในอันดับที่ 7 รองจากอุตสาหกรรมพลังงาน ก่อสร้าง การแปรรูปอื่น ๆ เหมืองแร่และการขุดค้น การแปรรูปอาหาร
และเครื่องดื่มและบุหรี่ ตามลำดับ

สปป. ลาวก่อตั้งโรงงานตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มแห่งแรกในปี 2527 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 77 แห่ง ตั้งอยู่ใน นครหลวงเวียงจันทน์ 72 แห่ง
แขวงเวียงจันทน์ 1 แห่ง แขวงจำปาสัก 2 แห่ง และแขวงสะหวันนะเขต 2 แห่ง แบ่งออกเป็นโรงงานที่ผลิตเครื่องนุ่งห่มเพื่อส่งออก
เป็นหลักจำนวน 50 แห่ง และโรงงานที่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ 27 แห่ง สร้างงานได้ 25,000 ตำแหน่ง สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่
ได้แก่ เครื่องแบบ เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล เสื้อทำงานแจ๊คเก็ต ยีนส์ ชุดชั้นใน ชุดเครื่องนอน ถุงเท้า รองเท้าและอื่น ๆ
ตลาดส่งออกที่สำคัญของ สปป. ลาว ได้แก่ ยุโรปร้อยละ 80 ญี่ปุ่น ร้อยละ 9 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4 และแคนาดา ร้อยละ 2

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการบางส่วนหยุดการผลิต และบางส่วนลดกำลังการผลิตชั่วคราวเพื่อปฏิบัติตาม
มาตรการป้องการการแพร่ระบาดของรัฐบาล สปป. ลาว อีกทั้งอุตสาหกรรมตัดเย็บของ สปป.ลาว ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
กับอุตสาหกรรมตัดเย็บทั่วโลก กล่าวคือ หลายบริษัทประสบปัญหาถูกยกเลิกคำสั่งซื้อจากบริษัทที่เป็นเจ้าของเครื่องหมาย
สินค้าต่าง ๆ การชะลอการผลิตวัสดุ อุปกรณ์ด้านการตัดเย็บจากผู้ผลิตในต่างประเทศอันเนื่องมาจากการ lockdown
ในหลายเมือง และปัญหาความล่าช้าในการจัดส่งและมอบสินค้า

ในปี 2563 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของ สปป. ลาวมีมูลค่า 188 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.32 เมื่อเทียบกับปี 2562
ส่วนในปี 2564 มูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นเป็น 189 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2565 การส่งออก
เครื่องนุ่งห่มมีมูลค่า 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนโยบายผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 โรงงานตัดเย็บหลายแห่ง
เริ่มเปิดดำเนินการผลิตตามปกติ และอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากผลกระทบ สำหรับการนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ช่วงเดือน
ม.ค. - มิ.ย. 2565 สปป. ลาวนำเข้าเครื่องนุ่งห่มประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนมากที่สุดมูลค่า 8.04 ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือเวียดนาม 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทย 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การพัฒนาอุตสาหกรรมตัดเย็บใน สปป. ลาว เผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ จำนวนแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม
การผลิตของ สปป. ลาวมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้สัดส่วนแรงงานในภาคการผลิต
เครื่องนุ่งห่มขาดแคลน แม้ว่า สปป. ลาวจะมีข้อได้เปรียบด้านอัตราค่าจ้างแรงานที่มีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
แต่ศักยภาพในการผลิตยังมีน้อย แรงงานเลือกจะทำงานในอุตสาหกรรมอื่นที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า รวมถึงแรงงานลาวส่วนหนึ่ง
ย้ายไปทำงานต่างประเทศ สำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กยังประสบปัญหาในการเข้าถึง
แหล่งเงินทุน และปัญหาเงินกีบอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์และบาท ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าสำหรับการผลิต
เครื่องนุ่งห่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต

เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมตัดเย็บใน สปป.ลาว สมาคมอุตสาหกรรมตัดเย็บ สปป. ลาวผลักดันนโยบาย
ส่งเสริมให้โรงงานตัดเย็บทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถดำเนินการได้มากขึ้น โดยส่งเสริมให้หนึ่งกลุ่มบ้าน มีหนึ่ง
ร้านตัดเย็บเพื่อสร้างรายรับให้ผู้ประกอบรายย่อย และทำให้ประชาชนได้ใช้สินค้าที่ผลิตภายในชุมชน ประชาสัมพันธ์เชิญชวน
ให้สนับสนุนและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ลาวที่ผลิตภายในประเทศเพื่อลดการรั่วไหลของเงินตราต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้
รัฐบาล สปป.ลาว ยังได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้
จากสถาบันการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง
https://eriit.moic.gov.la/researcheriitlao/
https://www.moic.gov.la/?page_id=6994
https://laoedaily.com.la/2022/10/03/117658/ file:///I:/downloads/Yearbook2021_Final%2022.04.2022%20(1).pdf

11/18/2022



กลับหน้าหลัก