เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 ดร. บุนเหลือ สินไซวอระวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับการขุนค้นแร่เหล็กแบบทดลอง โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับงานขุนค้นแร่เหล็กแบบทดลองในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ กลไกการปฏิบัติหน้าที่ ของแต่ละหน่วยงาน และแผนการส่งออกประจำปีของแต่ละบริษัท เพื่อภาครัฐสามารถใช้ประกอบการคาดการณ์รายรับจากการขุดค้นแร่เหล็กในระยะทดลอง ที่ประชุมได้รับฟังปัญหาและให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการ ขุดค้นและการเตรียมการเพื่อเริ่มปฏิบัติงานจริงแก่บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ขุดค้นแร่เหล็กในระยะทดลอง 14 บริษัท รวม 15 โครงการ ที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมให้รัฐล่วงหน้าและลงนามสัญญาขุดค้นเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้ลงนามสัญญาทดลองขุดค้นแร่เหล็กและสัญญาชำระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายให้รัฐกับกระทรวงการเงิน สปป. ลาวแล้ว 9 แห่ง ดร. บุนเหลือฯ ขอให้บริษัทที่ยังไม่ได้ดำเนินการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ดร. บุนเหลือ สินไซวอระวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว และนาย
Hu Weihua ประธานบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี (ลาว) จำกัด ได้ลงนาม MOU เพื่อศึกษาและออกแบบโครงการระบบคุ้มครองการเงินภาครัฐ และการสร้างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคุ้มครองงบประมาณแห่งรัฐแบบดิจิทัล โดยมีนายบุนโจม อุบนปะเสิด รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว นายบุนสะเหลิมไซ เคนนาวง รองรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร สปป. ลาว นายไซซะนะ สิดทิพอน หัวหน้าห้องการคณะกรรมการร่วมมือลาว – จีน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 ห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ออกแจ้งการอนุญาตการทดลอง ขุดและซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ใน สปป. ลาว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. อนุมัติให้บริษัท 6 แห่ง ทดลองขุดและซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลใน สปป. ลาว ได้แก่ บริษัท Wap Data Technology Laos จำกัด บริษัท พงซับทะวี ก่อสร้างขัวทาง จำกัด บริษัท สีสะเกด ก่อสร้างครบวงจร จำกัด บริษัท บุบผา พัฒนาก่อสร้างเคหะสะถานขัวทาง และสำรวจออกแบบ จำกัด ธนาคารร่วมพัฒนา จำกัด และบริษัท พูสี กรุ๊ป จำกัด
บริษัท Flash Express จำกัด และกลุ่มบริษัท AIF ของ สปป. ลาวร่วมลงทุนเพื่อขยายสู่ตลาดประเทศ CLMV โดยเปิดตัว Flash Express Laos ใน สปป. ลาวอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้บริการรับ – ส่งพัสดุระหว่างไทย
กับนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ E-commerce และกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 นายพูขง จิดรูบโลก หัวหน้ากรมแผนการและการร่วมมือ กระทรวงเทคโนโลยี และการสื่อสาร สปป. ลาว และนายกุมพาไซ สีลิวง ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท Lao Gateway จำกัด ร่วมลงนาม MOU เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมี ศ.ดร. บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร สปป. ลาว และนายสูนทอน พมมะจัก ประธานสภาบริหารบริษัท Lao Gateway จำกัด พร้อมด้วยผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน
ดร. ปะดับไซ ไซยะโคด รองหัวหน้าสถาบันเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร กระทรวงเทคโนโลยี และการสื่อสาร สปป. ลาว รายงานการพัฒนาด้านโทรคมนาคมใน สปป. ลาว ดังนี้ 1. การพัฒนาโทรคมนาคม 2G 3G 4G- ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สปป. ลาวมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ด้านโทรคมนาคมหลายครั้ง และได้ดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนผ่านการร่วมทุน ซึ่งมีส่วนทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมีความทันสมัยและมีการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง ส่งผลให้มีผู้จำหน่ายและสนับสนุนอุปกรณ์ แก่ผู้ประกอบการใน สปป. ลาวมากขึ้น รวมทั้งมีผู้ให้บริการด้าน Solution โดยเฉพาะ Huawei ซึ่งสนับสนุนเครือข่ายโทรคมนาคมของผู้ให้บริการโทรคมนาคม เช่น 3G เปิดตัวในปี 2551 และ 4G เปิดตัวในปี 2555 ในช่วงปี 2533 มีเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน ระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแบบอนาล็อกขั้นสูง (AMPS) ซึ่งให้บริการใน นครหลวงเวียงจันทน์ในปี 2536 และระบบเครือข่ายการสื่อสารมือถือทั่วโลก GMS 900 และมาตรฐานไร้สายรุ่นต่อมาในปี 2537 และมีการพัฒนามาตรฐานไร้สายอย่างไม่หยุดยั้งตั้งแต่ 1G จนถึง 5G ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป. ลาว เข้าร่วมพิธีเปิดทดลองการใช้ระบบบริหารท่าบกท่านาแล้ง โดยมีนายจันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัท Vientiane Logistics Park จำกัด นายอาลุนแก้ว กิดติคุน ประธานกรรมการยุทธศาสตร์และการวางแผนบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัด นายสีลา เวียงแก้ว รองประธานกรรมการบริหารการค้าและระเบียบการบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัด และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 นายบุนปอน วันนะจิด รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว เป็นประธาน
การประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อรัฐบัญญัติว่าด้วยอัตราค่าเช่าและสัมปทานทรัพย์สินของรัฐ โดยมีผู้แทน
จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงโยธาธิการ
และขนส่ง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว และกระทรวงศึกษาธิการ
และกีฬาเข้าร่วม
นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว และคณะ เข้าร่วมการประชุม High-level Asia-Pacific Regional Review Meeting on the Istanbul Programme of Action (IPoA) ระหว่างวันที่ 30 ส.ค. - 2 ก.ย. 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อทบทวนแผนปฏิบัติการอิสตันบูล แลกเปลี่ยนบทเรียนเกี่ยวกับผลสำเร็จ อุปสรรค และข้อเสนอแนะสำหรับการสร้างแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ รวมถึงหารือเกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม UN Conference on the LDCs ครั้งที่ 5 ที่จะจัดขึ้นในเดือน ม.ค. 2565 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 นายพูขง จิดรูบโลก หัวหน้ากรมแผนการและการร่วมมือ กระทรวงเทคโนโลยี และการสื่อสาร สปป. ลาว และนายลัดตะนะมะนี คูนนีวง รองประธานอาวุโสกลุ่มบริษัท AIF ร่วมลงนาม MOU เพื่อร่วมกันศึกษาการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างและบริหารระบบบริหารรัฐ แบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปรับปรุงการสื่อสารภาครัฐ โดยมี ศ.ดร. บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร สปป. ลาว และนายลิดทิกอน พูมมะสัก ประธานสภาบริหารกลุ่มบริษัท AIF พร้อมด้วยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน