เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564 ดร. คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ได้ให้การต้อนรับนาย Vladimir A. KALININ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำ สปป. ลาว ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่ ดร. คำแพงฯ เข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ด้านการค้าระหว่าง สปป. ลาวกับรัสเซีย รวมถึงข้อเสนอในการจัดการหารือระหว่างสภาอุตสาหกรรมและการค้าแห่งชาติลาว – รัสเซีย เพื่อเป็นเวทีสำหรับภาคเอกชนของทั้งสองประเทศที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุนระหว่างกัน เพิ่มเติมจากกรอบการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (Joint Commission: JC)
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564 ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการ และการลงทุน สปป. ลาว ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟโดยสารเวียงจันทน์ (รถไฟลาว - จีน) บ้านโคกสะอาด เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีนาย Xiao Qianwen ผู้จัดการทั่วไปบริษัทรถไฟลาว – จีน ให้การต้อนรับ
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 นายพึดสะพา พูมมะสัก ประธานบริษัท Asia Investment, Development & Construction จำกัด (AIDC) และนาย Dai Wei ประธานกรรมการบริหารบริษัท รัฐวิสาหกิจเสบียงอาหารจีน มณฑลเหอหนาน (Zhengzhou City Grain and Oil Industry มณฑลเหอหนาน) ร่วมลงนามสัญญาว่าด้วย ความร่วมมือในการจัดซื้อสินค้าเกษตรแปรรูปจาก สปป. ลาวไปจีน ผ่านระบบทางไกล โดยมีนายไซสมเพ็ด นอละสิง หัวหน้ากรมส่งเสริมการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว และนายสีปะไพ ไซสงคาม หัวหน้าห้องการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว เป็นผู้แทนของรัฐบาล สปป. ลาวร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน และมี ดร. คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมฯ สปป. ลาว นายเพ็ด พมพิพัก รัฐมนตรีกระทรวงกสิกรรมฯ สปป. ลาว และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางด้านการค้าของ สปป. ลาว กรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรม และการค้า สปป. ลาว รายงานว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 สปป. ลาวมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออก ประมาณ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยการส่งออก 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย สปป. ลาวได้ดุลการค้าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สปป. ลาวมีประเทศคู่ค้ากว่า 19 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศคู่ค้าหลักที่มีชายแดนติดกันและมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกมากที่สุด คือ ไทย จีน และเวียดนาม
การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 2 ใน สปป. ลาวเมื่อกลางเดือน เม.ย. 2564 ส่งผลให้ธุรกิจหลายแห่งปิดตัวลง มีคนตกงานมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระทบรายได้ของรัฐบาล สปป. ลาว จึงมีความจำเป็นต้องปรับแก้เป้าหมายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่รัฐบาล สปป. ลาวเคยกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะคาดการณ์ GDP การจัดเก็บรายได้ การใช้จ่าย การขาดดุลทางการคลัง และอัตราเงินเฟ้อ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมของสภาแห่งชาติพิจารณาและอนุมัติเมื่อต้นปี 2564 รัฐบาล สปป. ลาวตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่อย่างน้อยร้อยละ 4 ต่อปี ในช่วงปี 2564 - 2568 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 6 อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาล สปป. ลาวจะสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้เร็วเพียงใด นอกจากนี้ รัฐบาล สปป. ลาวได้กำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการ ดังนี้
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2564 นายบุนโจม อุบนปะเสิด รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว เป็นประธาน การประชุมสรุปผลดำเนินงานตามแผนงบประมาณในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 และคาดการณ์แผนงบประมาณของทั้งปี 2564 โดยมีรองรัฐมนตรี หัวหน้ากรม รองหัวหน้ากรม และผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงการเงิน สปป. ลาวเข้าร่วม
เมื่อวันที่ 5 - 15 พ.ค. 2564 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สปป. ลาว ได้ดำเนินการสำรวจ และประเมินจำนวนครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำทั่วประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ อย่างเร่งด่วน ผลการสำรวจระบุว่าจำนวนคนตกงานและประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากการระบาดของโควิด 19 และถูกเลิกจ้างงานในต่างประเทศมีทั้งหมด 84,418 คน โดยกระทรวงแรงงานฯ จะยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล สปป. ลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจน เมื่อข้อเสนอได้รับการอนุมัติ นายกรัฐมนตรีจะออกดำรัสเพื่อนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติ นายปะทุมพอน สนทะนี รองรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯ กล่าวว่า หลังจากได้รับข้อมูลเกี่ยวกับจำนวน ผู้ที่ได้รับผลกระทบในแต่ละแขวงแล้ว จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินและเบื้องต้น โดยจัดหาอาหารและกองทุนตามที่ได้รับอนุมัติในแต่ละแขวง การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ส่งผลให้คนยากจนจำนวนมากตกงานและไม่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ มีครัวเรือนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจน 1,216 ครอบครัว มีคนตกงานทั้งหมด 30,698 คน รองลงมา คือ แขวงจำปาสักมีครัวเรือนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจน 2,472 ครอบครัว มีคนตกงานทั้งหมด 9,934 คน แขวงบ่อแก้วมีครัวเรือนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจน 1,528 ครอบครัว มีคนตกงานทั้งหมด 6,213 คน แขวงอุดมไซมีครัวเรือนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจน 3,133 ครอบครัว มีคนตกงานทั้งหมด 11,753 คน แขวงอัดตะปือมีครัวเรือนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจน 780 ครอบครัว มีคนตกงานทั้งหมด 3,168 คน และ แขวงเซกองมีครัวเรือนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจน 171 ครอบครัว มีคนตกงานทั้งหมด 2,693 ทั้งนี้ ยังเหลืออีก 12 แขวงที่ยังไม่ได้สำรวจและคาดว่าจำนวนกลุ่มครอบครัวยากจนและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะเพิ่มมากขึ้น ที่มา: นสพ. Vientiane Times วันที่ 28 พ.ค. 2564
นายคงเพ็ด ดาลาวอน กรรมการผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทน์ - ปากเซ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้ยื่นเสนอเส้นทางด่วนกับห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติแล้ว เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว ทางด่วนเวียงจันทน์ - ปากเซจะคู่ขนานกับถนนหมายเลข 13 ใต้ โดยแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ - เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ - เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน - แขวงสะหวันนะเขต - แขวงสาละวัน -เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก มีระยะทางรวม 617 กิโลเมตร โดยช่วงแรกมีจุดเริ่มต้นจากถนน 450 ปี นครหลวงเวียงจันทน์ถึงเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ระยะทาง 126 กิโลเมตร เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาจาก 90 นาที เหลือ 30 - 40 นาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของช่วงที่ 1 อีก 4 ช่วงยังไม่ได้เริ่มการศึกษา ความเป็นไปได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 โครงการฯ การก่อสร้างจะใช้ผู้รับเหมาของ 4 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทลาว 2 แห่ง และบริษัทจีน 2 แห่ง เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางทั้งหมดจาก 8 - 10 ชั่วโมง เหลือ 6 - 7 ชั่วโมง และจะทำให้โครงข่ายเส้นทางคมนาคมของ สปป. ลาวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายการพัฒนา เพื่อเปลี่ยนประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นประเทศที่เชื่อมโยงทางบกของรัฐบาล สปป. ลาว ทางด่วนนี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางคมนาคมอื่น ๆ ภายในประเทศ เช่น ทางด่วนเวียงจันทน์ - บ่อเต็น (ชายแดนลาว - จีน) ซึ่งเปิดใช้งานระยะที่ 1 (เวียงจันทน์ - วังเวียง) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และปัจจุบันรัฐบาล สปป. ลาว ได้อนุมัติการก่อสร้างทางด่วนแห่งนี้ในระยะที่ 2 (วังเวียง - หลวงพระบาง) และทางด่วนเวียงจันทน์ - ฮานอย ซึ่งจะช่วยสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลวงของ สปป.ลาวกับเวียดนาม ปัจจุบันทางด่วนเวียงจันทน์ – ฮานอย อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ที่มา: นสพ. Vientiane Times วันที่ 28 พ.ค. 2564 เว็บไซต์ The Laotian Times วันที่ 28 พ.ค. 2564 https://laotiantimes.com/2021/05/28/movement-on-the-vientiane-to-pakse-expressway-project/
นายไลทอง พมมะวง ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 รัฐบาล สปป. ลาวมีมาตรการปิดด่านพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ รวมถึงสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 ซึ่งการก่อสร้างเกิดความล่าช้า เนื่องจากผู้รับเหมาจากไทยได้รับอนุญาตให้ส่งคนงานเข้ามาดำเนินการที่ฝั่งลาว ช่วงกลางวันเท่านั้น และต้องข้ามแม่น้ำโขงกลับไทยทุกเย็น อย่างไรก็ตาม ในส่วนการก่อสร้างที่ดำเนินการโดยบริษัทลาวยังคงดำเนินตามแผนที่วางไว้ ปัจจุบัน การก่อสร้างเส้นทางเข้าและด่านตรวจคนเข้าเมืองมีความคืบหน้าร้อยละ 10 สะพานดังกล่าวเริ่มดำเนินการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 5 เดือน และคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน (แล้วเสร็จปี 2566) โดยมีมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด 3,900 ล้านบาท ปัจจุบันการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างแขวงบอลิคำไซและจังหวัดบึงกาฬใช้เรือข้ามฝาก หากสะพานแล้วเสร็จจะทำให้แขวงบอลิคำไซกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมระดับภูมิภาคอีกระหว่างไทย สปป. ลาว และเวียดนาม ด้วยระยะทางเพียง 150 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่สั้นที่สุดของสามประเทศ ที่มา: นสพ. Vientiane Times วันที่ 25 พ.ค. 2564
ในช่วงปี 2561 – 2567 ธนาคารโลกและรัฐบาล สปป. ลาวจัดสรรทุน 29.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับดำเนินโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรของ สปป. ลาว ทุนดังกล่าวประกอบด้วยเงินกู้ยืมจากธนาคารโลก 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ งปม. ของรัฐบาล สปป. ลาว 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่ม การผลิตของเกษตรกร 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาวจะดำเนินโครงการ ร่วมกับแผนกกสิกรรมและป่าไม้แขวงไซยะบูลี เวียงจันทน์ บอลิคำไซ คำม่วน และนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของห่วงโซ่ทางการเกษตรตั้งแต่การผลิตจนถึงหลังการเก็บเกี่ยวของพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ผัก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อขยายผลผลิตทางการเกษตรโดยการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อลดต้นทุนแรงงานและต้นทุนการผลิต โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนทางการเกษตร การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการเกษตร และการบริหารจัดการโครงการ