เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 นายเจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ได้ร่วมเสวนาออนไลน์ “เปิดโลกการค้า เจราจาธุรกิจ พิชิตลาว” โดยมีนายไซสมเพ็ด นอละสิง หัวหน้ากรมส่งเสริมการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ดร. พอนไซ วิไลสัก รองหัวหน้ากรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว นายคำแพง วงขันตี ผู้อำนวยการบริษัท SMT Logistics จำกัด นายคมปันยา เพ็งวินัยยา CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท คมปัญญา อีเว้นท์ ออแกไนเซอร์ จำกัด เป็นผู้ร่วมเสวนา และนายกวิน วิริยพานิชย์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ขอเชิญร่วมฟังการระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “ผลึกกำลังเตรียมรับมือรถไฟจีน – ลาว – ไทย” ในวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 เวลา 08.30 – 15.00 น. ทาง Facebook Live ได้ที่ APAC ศูนย์การเรียนรู้ ศึกษาวิธีการเปิดตลาดอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือตาม QR Code ด้านล่างนี้
รายงานผลการสำรวจเศรษฐกิจทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 ปี 2562 – 2563 ระบุว่า ประเภทวิสาหกิจที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุดใน สปป. ลาว คือ วิสาหกิจรายย่อย คิดเป็นร้อยละ 94.2 (126,168 แห่ง) รองลงมา คือ วิสาหกิจขนาดย่อม คิดเป็นร้อยละ 4.9 (6,600 แห่ง) วิสาหกิจขนาดกลาง คิดเป็นร้อยละ 0.7 (954 แห่ง) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 0.2 (276 แห่ง)
นายดาววง พอนแก้ว รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว กล่าวว่า นักลงทุนจีนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคพลังงานไฟฟ้าใน สปป. ลาว ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนทุน ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้สนับสนุนอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ผู้ดำเนินการศึกษาและออกแบบ และคู่ร่วมธุรกิจ อีกทั้งเป็นนักลงทุนอันดับต้น ๆ ในการพัฒนาภาคธรณีศาสตร์และเหมืองแร่ใน สปป. ลาวเช่นเดียวกันกับการลงทุนในภาคพลังงานไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 นางคำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว และนาย Zhang Wenfeng รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท China Southern Power Grid (CSG) ร่วมลงนามสัญญาสัมปทานโครงการสายส่งไฟฟ้าแห่งชาติลาว (EDL-T) โดยมี ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว และนาย Jiang Zaidong เอกอัครราชทูตจีนประจำ สปป. ลาว พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน
ขอเชิญร่วมฟังเสวนาออนไลน์ “เปิดโลกการค้า เจรจาธุรกิจ พิชิตตลาดลาว”
เมื่อวันที่ 3 – 4 มี.ค. 2564 นายบัวเทบ มาไลคำ หัวหน้ากรมคุ้มครองพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว และนาย Tristan Bellingham ผู้อำนวยการโครงการพลังงานทดแทนนิวซีแลนด์ – ลาว เป็นประธานร่วมการฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัยของเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กใน สปป. ลาว ครั้งที่ 3 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้พัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเข้าร่วม
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564 คณะกรรมการนโยบายการพัฒนา (CDP) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ได้เสนอให้ สปป. ลาวหลุดพ้นจากสถานะ LDC ในปี 2569 ซึ่งขยายช่วงเตรียมการหลุดพ้นออกไปอีก 5 ปี โดยรัฐบาล สปป. ลาวจะร่วมมือกับประเทศคู่ร่วมพัฒนาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเพื่อให้แน่ใจว่า สปป. ลาวจะหลุดพ้นจากสถานะ LDC ได้อย่างราบรื่น
ข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ระบุว่า ในเดือน ม.ค. 2564 การส่งออกสินค้าของ สปป. ลาวไปไทยมีมูลค่า 89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือน ม.ค. 2563 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกกะหล่ำปลีในเมืองปากซอง แขวงจำปาสักที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมชายแดนที่เข้มงวดมากขึ้น โดยมีการคัดกรองบุคคลที่เดินเข้าประเทศ รวมถึงยานพาหนะที่ข้ามแดนมาจากไทย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยที่รับซื้อกะหล่ำปลีมีความยากลำบากในการเดินทางเข้ามายัง สปป. ลาว และส่งผลให้กะหล่ำปลีจำนวนหลายพันตันตกค้าง ในขณะเดียวกันการส่งออกข้าวโพดหวานในแขวงไซยะบูลีไปไทย ในเดือน ม.ค. 2564 ลดลงเช่นกัน
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 นางเข็มมะนี พนเสนา รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว และนายสมจิด อินทะมิดในฐานะประธานสภาบริหารกองทุนส่งเสริม SMEs เป็นประธานร่วมการประชุมสรุป ผลการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริม SMEs ปี 2563 ในช่วงปี 2555 – 2563 กองทุนส่งเสริม SMEs ได้ปล่อยสินเชื่อให้วิสาหกิจ 414 แห่ง รวม 356 พันล้านกีบ โดยเงินทุนก้อนแรกเป็นของรัฐบาล สปป. ลาว จำนวน 200,000 ล้านกีบ เพื่อให้สินเชื่อแก่ MSMEs ผ่านธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง เพื่อเพิ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยในปี 2563 สามารถปล่อยเงินทุนให้ MSMEs ผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง และสถาบันการเงินรายย่อยที่รับฝากและไม่รับฝากเงิน 4 แห่ง โดยเป็น MSMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะภาคการบริการและการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการผลิตสินค้าใน สปป. ลาว ซึ่งสามารถปล่อยสินเชื่อให้วิสาหกิจทั้งหมด 138 แห่ง รวม 164.54 พันล้านกีบ