กฎระเบียบที่ควรรู้

การออกมาตรการเพื่อคุ้มครองราคาสินค้าใน สปป.ลาว

ก. อุตสาหกรรมฯ กำหนด 9 มาตรการเพื่อคุ้มครองราคาสินค้าและค่าบริการ


เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2560 นางเขมมะนี พนเสนา รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ชี้แจงต่อที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 3 ของสภาแห่งชาติชุดที่ 8 เกี่ยวกับการคุ้มครองราคาสินค้าและค่าบริการในระยะที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันสินค้าประเภทผัก ผลไม้ ปลาธรรมชาติ (อาทิ ปลาแม่น้ำโขง) มีราคาเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ขณะที่ราคาสินค้าประเภทข้าว เนื้อ ปลา ไก่ ไข่ มีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประมาณร้อยละ 10 – 20

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมฯ ได้กำหนด 9 มาตรการ ในการคุ้มครองราคาสินค้าและค่าบริการ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เผยแพร่และปฏิบัติตามดำรัสที่ 474 / นย ว่าด้วยการคุ้มครองราคาสินค้าและค่าบริการ รวมทั้งทบทวนดำรัสดังกล่าว เพื่อสำรวจและหาข้อมูลในการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
2. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดโครงสร้างราคาสินค้าและค่าบริการที่อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม
3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมดำเนินธุรกิจ และ แก้ไขขั้นตอนที่ซับซ้อนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งปรับปรุงการลงทุนผ่านประตูเดี่ยวในระดับกลางและระดับท้องถิ่นให้มีความรวดเร็ว
4. ผลักดันสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าเลี่ยงภาษี ให้เข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย
5. ผลักดันนโยบายส่งเสริมการผลิตและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมฯ และการค้า เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการภายในประเทศ
6. ผลักดันนโยบายส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีความสามารถในการแข่งขันตลาดภายในและต่างประเทศได้
7. ผลักดันการคุ้มครองราคาสินค้าและค่าบริการทั่วประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
8. ประสานกับธนาคารแห่ง สปป. ลาว ให้ใช้ธนบัตรที่มีมูลค่าน้อย เพื่อรักษาเถียรภาพราคาสินค้ามิให้สูงเกินควร
9. ประสานกับกระทรวงการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระเบียบการควบคุมราคาสินค้าและค่าบริการ รวมทั้งได้ปรับปรุงการประสานงานระหว่างหน่วยงานในระดับกระทรวงและระดับท้องถิ่นให้มีความสะดวกรวดเร็ว โดยให้ยึดนครหลวงเวียงจันทน์เป็นต้นแบบในการควบคุมราคาสินค้าและค่าบริการ

สภาแห่งชาติพิจารณาร่างมติเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองราคาสินค้า

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 นายแสงนวน ไซยะลาด รองประธานสภาแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุมสมาชิกสภาแห่งชาติ เพื่อพิจารณาร่างมติเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองราคาสินค้าและค่าบริการ นางสวนสะหวัน วิยาเกด คณะกรรมการประจำสภาแห่งชาติ เลขาธิการสภาแห่งชาติ เสนอร่างมาตรการคุ้มครองราคาสินค้าและค่าบริการ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของ ประชาชน

อย่างไรก็ดี ประชาชนยังเห็นว่าเนื้อหาของร่างมาตรการนี้ยังไม่รัดกุมและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง อีกทั้งไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเห็นได้ว่าราคาสินค้าและราคาอาหารตามฤดูกาลยังมีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของ ปชช. ผู้มีรายได้น้อย ข้อเสนอจากที่ประชุมมีหลายประการ ดังต่อไปนี้ (1) รัฐบาลควรนำดำรัสของนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคุ้มครองราคาสินค้าและค่าบริการให้ตราขึ้นเป็นกฎหมาย
(2) ผลักดันกฎหมายการตรวจสอบนำเข้าและจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร
(3) การหามาตรการลดต้นทุนการผลิต
(4) ศึกษารายละเอียดโครงสร้างราคาสินค้าและค่าบริการเพื่อให้การผลิตขยายตัวได้รวดเร็วและสามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร
(5) ส่งเสริมการผลิตที่มีเอกลักษณะเฉพาะพื้นที่
(6) การส่งเสริมความเป็นธรรมด้านการซื้อ - ขาย ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสจากพ่อค้าคนกลาง
(7) เจ้าหน้าที่รัฐควรปฏิบัติงานอย่างเข้มงวดต่อผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย

นายสุกสะหวัน ไซสมบัด สมาชิกสภาแห่งชาติ แขวงสะหวันนะเขต กล่าวว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการนำเข้าสินค้า เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มักจ่ายภาษีถูกต้องตาม กม. เป็นเงินจำนวนมาก ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กมักหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี โดยใช้วิธีการขนส่งวันละหลายรอบหรือที่เรียกว่ากองทัพมด และเป็นสาเหตุหนึ่งของราคาสินค้าไม่คงที่ หากรัฐบาลปรับลดการจัดเก็บภาษีก็จะทำให้ราคาสินค้าในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น

ที่มา:
หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า, ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2560
หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา, ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2560
หนังสือพิมพ์ข่าวสารประเทศลาว, ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2560

06/12/2017



กลับหน้าหลัก