กฎระเบียบที่ควรรู้

เศรษฐกิจลาว ปี 2563 คาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 3.3

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2563 สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติได้ออกรายงานผลการศึกษาผลกระทบจากการแพร่ระบาด
ของโรคโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจลาว ข้อเสนอแนะในการจัดทำมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว ประจำเดือน เม.ย. 2563
โดยผลการศึกษาพบว่า โรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ซึ่งคาดการณ์ว่า
การเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) สปป. ลาวจะขยายตัวลดลงจากร้อยละ 6.1 ในปี 2562 เหลือร้อยละ 3.3 ในปี 2563
ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ร้อยละ 4.5

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP สปป. ลาวในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 3.5
และ 3.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิชาการธนาคารโลกคาดการณ์เพิ่มเติมอย่างไม่เป็นทางการว่าอาจปรับตัวเลข GDP
ลงที่ติดลบร้อยละ 2.2 ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP สปป. ลาวในปี 2563
จะขยายตัว ร้อยละ 0.7

หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจลาวมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก
ซึ่งอาจลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกลดลงจาก 410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในเดือน ม.ค. 2563 เหลือ 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.พ. 2563 และ 343 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน มี.ค. 2563
โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปไทยและเวียดนาม ซึ่งมีสาเหตุมาจากความต้องการนำเข้าสินค้าลดลง และอัตราการเติบโต
ทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของ สปป. ลาวที่ลดลง IMF คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจากร้อยละ 3
 เหลือติดลบร้อยละ 6.7 เวียดนามจากร้อยละ 6.5 เหลือร้อยละ 2.7 และจีนจากร้อยละ 5.8 เหลือร้อยละ 1.2

ในภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าภาคธุรกิจภาคอื่น ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 สปป. ลาวสูญเสียรายได้
จากการท่องเที่ยวประมาณ 452,000 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและไทยลดลง ร้อยละ 16 (14,417 คน)
และร้อยละ 5 (21,791 คน) ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า สปป. ลาวอาจสูญเสียรายได้
จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจลาวขยายตัว ช้าลงร้อยละ 2 อย่างไรก็ดี
จำนวนนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้และยุโรปยังเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทาง
มายัง สปป. ลาวในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 มีจำนวน 697,004 คน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัจจุบันการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน สปป. ลาวถูกจำกัด เป็นอย่างมาก และคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบ
ไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2563 เนื่องจากหลายประเทศ ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ รวมทั้งมีความกังวล
ในการเดินทางและโอกาสที่โรคโควิด 19 จะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง

นอกจากนี้ ธุรกิจที่พัก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานบันเทิง การขนส่งสาธารณะ การศึกษา และการบริการอื่น ๆ ได้รับ
ผลกระทบจากมาตรการของประเทศคู่ค้าและมาตรการภายในประเทศเช่นกัน โดยสองแขวงที่ได้รับผลกระทบ มากที่สุด
คือ นครหลวงเวียงจันทน์และแขวงหลวงพระบาง ซึ่งมีวิสาหกิจอยู่กว่า 5,000 แห่ง ทั้งสองแขวงยังเป็น จุดศูนย์กลางการท่องเที่ยว
และมีเที่ยวบินระหว่างประเทศจำนวนมาก สำหรับแขวงที่ได้รับผลกระทบรองลงมาอันดับที่ 2 มี 11 แขวง และมีจำนวนวิสาหกิจ
1,000 – 5,000 แห่ง โดยเกือบทั้งหมดเป็นแขวงที่อยู่ริมแม่น้ำโขงซึ่งมีการเดินทาง เข้า – ออกของนักท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า
และอันดับที่ 3 มี 5 แขวง และมีจำนวนวิสาหกิจต่ำกว่า 1,000 แห่ง

จากการประเมินเบื้องต้นของสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวระบุว่า อัตราการยกเลิกการจองห้องพัก ในเดือนมีนาคม 2563
สูงกว่าร้อยละ 70 (สำรวจจากโรงแรมใหญ่จำนวนหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง และแขวงจำปาสัก)
สายการบินลาวได้ประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 ทำให้สูญเสียรายได้กว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. เวียงจันทน์ใหม่ วันที่ 20 เม.ย. 2563
https://v2.vientianemai.net/archives/2107
เว็บไซต์ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 20 เม.ย. 2563
 https://laoedaily.com.la/2020/04/20/76734/
เว็บไซต์ นสพ. Vientiane Times วันที่ 23 เม.ย. 2563
 www.vientianetimes.org.la/sub-new/Business/Business_Lao_tourism_76.php

04/24/2020



กลับหน้าหลัก