กฎระเบียบที่ควรรู้

มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

การประชุมของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทได้แสดงความคิด เห็นและร่วมกันตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิหรือทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นหรือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อบริษัท โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นนี้นอกจากจะให้ผู้ถือหุ้นทุกคนได้ใช้สิทธิของตน ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยก็สามารถเข้าร่วม ประชุมและออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการลงมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นซึ่งแบ่งมติที่ประชุม ผู้ถือหุ้นออก เป็น 2 ลักษณะ คือ มติทั่วไปและมติเฉพาะ สำหรับการลงมติทั่วไปนั้นจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของ จำนวนเสียงของผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะของผู้ถือหุ้นที่มาเข้าร่วมประชุม โดยให้นับหนึ่งหุ้นเป็นหนึ่งเสียง ส่วน การลงมติเฉพาะจะต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะของผู้ถือหุ้นที่มาเข้าร่วม ประชุม และจะต้องถือหุ้นรวมกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ ใน กรณีที่ผู้ถือหุ้นคนใดที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์โดยตรงเกี่ยวข้องกับวาระใดวาระหนึ่ง ในการลง คะแนนเสียงของวาระนั้นๆ ผู้ถือหุ้นดังกล่าวอาจถูกจำกัดสิทธิการลงคะแนนเสียงได้ โดยกฎหมายกำหนดให้เป็น ไปตามการตกลงของที่ประชุมผู้ถือหุ้นเอง

การลงมติวาระต่างๆ ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับการประชุมที่เป็นกรณีทั่วไป เช่น การเลือกตั้งกรรมการ การเลือกตั้งผู้สอบบัญชี การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ และการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น จะใช้มติทั่วไป และ จะมีเพียงบางกรณีที่กฎหมายของ สปป. ลาว กำหนดให้ต้องใช้มติเฉพาะ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับกฎหมายไทย เช่น การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือสัญญาจัดตั้งบริษัท การเพิ่มทุนหรือการลดทุน การควบหรือการเลิกบริษัท การขาย หรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญของบริษัทให้กับบุคคลอื่นรวมทั้งการซื้อหรือรับโอนกิจการของบริษัทอื่นมาเป็นของบริษัทเป็นต้น สำหรับกรณีที่แตกต่างไปจากกฎหมายไทย เช่น การชำระค่าหุ้นด้วยวัตถุหรือ ทรัพย์สินอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน จะทำได้ก็ต่อเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติด้วยคะแนนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของผู้ก่อตั้ง บริษัทและผู้เข้าชื่อจองซื้อหุ้นในที่ประชุมก่อตั้งบริษัทอนุมัติให้ทำได้ หากบริษัทประสงค์ที่จะกำหนดให้มี การลง มติเฉพาะในเรื่องใดเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถทำได้โดยอาจพิจารณาจากข้อบังคับที่บริษัทระบุไว้

นอกจากนี้ กฎหมายยังได้ปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นที่มีเสียงส่วนน้อย โดยกำหนดว่าหากภายหลังที่ผลของ ลงมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นใดๆ ได้สร้างความเสียหายแก่บริษัทอย่างมาก บริษัทมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ถือ หุ้นที่ออกเสียงคัดค้านในการลงมตินั้นๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็สามารถลบล้างได้โดยอาศัยคำตัดสินของศาล โดยผู้ถือหุ้นมีสิทธิที่จะ ร้องขอต่อศาล หากเห็นว่าการลงมตินั้นๆ ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับหรือสัญญาจัดตั้งบริษัท หรือการลงมติไม่เป็นไป ตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หรือการเชิญผู้ถือหุ้นเข้าประชุมไม่ถูกต้องโดยผู้ถือหุ้นจะต้องร้องขอต่อศาลภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติ

จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นกฎเกณฑ์ที่สำคัญอีกประการที่ควร ทราบ เพื่อที่บริษัทจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และผู้ถือหุ้นจะได้สามารถรักษาสิทธิของตนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้ง กฎหมายยังได้มีการกำหนดเกี่ยวกับการลงมติอีกแบบหนึ่ง คือ มติคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ ควรทราบเช่นเดียวกัน โดยจะกล่าวในคราวต่อไป



กลับหน้าหลัก