กฎระเบียบที่ควรรู้

บริษัทมหาชน

ตามที่ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทความฉบับที่แล้วว่า ในกรณีที่บริษัทจำกัดมีผู้ถือหุ้นเกิน 30 คนขึ้นไป หากไม่ ได้มีมติที่ประชุม ผู้ถือหุ้นให้คงสภาพเป็นบริษัทจำกัดต่อไป ก็จะต้องเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งนอกจากจะต้อง เปลี่ยนชื่อจาก “จำกัด” เป็น “มหาชน” แล้วยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นที่ควรทราบอีกหลายประการ ดังจะได้กล่าว ต่อไปในบทความนี้

บริษัทมหาชน เป็นวิสาหกิจบริษัทรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีจุดเด่นหลักๆ คือ สามารถโอนหุ้นได้อย่างเสรี และ สามารถเสนอขายหุ้นอย่างเปิดเผยต่อมวลชนทั่วไปได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังอนุญาตให้บริษัทมหาชนสามารถออก หุ้นกู้เพื่อระดมทุนจากประชาชนได้อีกด้วย อนึ่ง วิธีการที่เกี่ยวกับการออกหุ้นและหุ้นกู้นั้น จะต้องปฏิบัติตาม กฎหมายเฉพาะ ซึ่งจะกล่าวต่อไปในภายหน้า โดยในบทความนี้ จะกล่าวเฉพาะ การจัดตั้งบริษัทมหาชนก่อน

การจัดตั้งบริษัทมหาชนสามารถจัดตั้งขึ้นได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ

1. โดยการจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนขึ้นเลย หรือโดยการแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชน ซึ่ง หากผู้ลงทุนประสงค์จะจัดตั้งบริษัทมหาชนขึ้น จะต้องมีการเตรียมการให้ตรงตามเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วย วิสาหกิจกำหนด กล่าวคือ จะต้องดำเนินการให้มีผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 9 คนขึ้นไป พร้อมกับทำสัญญา จัดตั้งบริษัทมหาชนขึ้น ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดขั้นต่ำคล้ายกันกับสัญญาจัดตั้งบริษัทจำกัด แต่จะเพิ่มข้อความที่ แสดงจุดประสงค์ในการเสนอขายหุ้นอย่างเปิดเผยต่อประชาชนด้วย นอกจากนี้ ผู้ลงทุนอาจจะกำหนดทุนจด ทะเบียนให้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านกีบ หรือเทียบได้ประมาณ 7-8 ล้านบาท หากบริษัทมีความต้องการเสนอขายหลัก ทรัพย์ต่อประชาชน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้จะได้กล่าวในหัวข้อการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะต่อไป

2. กรณีการแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชน จะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทจำกัดมีผู้ถือหุ้นรวม กันเกินกว่า 30 คนขึ้นไป โดยจะต้องมีการจัดทำสัญญาจัดตั้งบริษัทมหาชนขึ้นใหม่ ให้มีรายละเอียดตามที่กฎหมาย กำหนด และต้องมีข้อความที่แสดงจุดประสงค์ในการเสนอขายหุ้นอย่างเปิดเผยต่อประชาชน และอาจกำหนดทุนจด ทะเบียนขึ้นใหม่ตามที่ได้กล่าวข้างต้นเลยเพื่อความสะดวกสำหรับบริษัทและผู้ถือหุ้นเอง

เมื่อเตรียมการต่างๆ ได้ครบตามเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ก็สามารถจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทมหาชนได้ด้วยการจด แจ้งสัญญาจัดตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ทะเบียนวิสาหกิจ และพร้อมกันนั้นจะต้องดำเนินการจัดหาคนมาจองซื้อหุ้น จนครบจำนวน โดยในการเสนอขายหุ้นครั้งแรกนี้ยังไม่สามารถใช้วิธีเสนอขายหุ้นอย่างเปิดเผยต่อประชาชนได้

ภายหลังจากนั้น ต้องดำเนินการให้มีการประชุมในกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทมหาชน เพื่อแต่งตั้งสภาผู้อำนวยการ เพื่อให้ดำเนินการแทนบริษัทมหาชน แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัท ตกลงเกี่ยวกับหุ้นของบริษัท ซึ่งกฎหมาย กำหนดไม่ให้มีมูลค่าเกิน 100,000 กีบ หรือประมาณ 380 บาทต่อหุ้น พร้อมตกลงรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับ บริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงนำไปขึ้นทะเบียนวิสาหกิจต่อไป

ทั้งนี้ ในการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจนั้น จะต้องผ่านการพิจารณาจากแขนงการที่เกี่ยวข้องโดยเมื่อยื่นขึ้น ทะเบียนต่อแขนงการการค้าที่มีหน้าที่รับเรื่องแล้ว แขนงการการค้าจะพิจารณาว่าประเภทธุรกิจที่แจ้งขึ้นทะเบียน นั้นจัดอยู่ในบัญชีควบคุมหรือไม่ โดยหากไม่อยู่ในบัญชีควบคุม แขนงการการค้าจะพิจารณาและออกทะเบียน วิสาหกิจให้ภายใน 10 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขึ้นทะเบียน แต่หากธุรกิจ ดังกล่าวอยู่ในบัญชีควบคุม แขนงการการค้าจะส่งเรื่องต่อไปยังแขนงการที่ควบคุมดูแลธุรกิจประเภทนั้น ๆ และแขนงการที่ควบคุมดูแล ดังกล่าวจะดำเนินการพิจารณาและออกทะเบียนวิสาหกิจให้ภายใน 10 วันทำการนับแต่แขนงการนั้นได้รับเรื่อง ซึ่งเมื่อได้มีการออกทะเบียนวิสาหกิจให้เรียบร้อยแล้ว ก็ถือว่าบริษัทนั้นได้ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน หนึ่งของ สปป. ลาว

จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับบริษัทมหาชนเพิ่มขึ้นมากกว่ากรณีของบริษัท จำกัด เนื่องจากกฎหมายต้องการปกป้องประชาชนส่วนรวม เพราะประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหุ้นและถือหุ้นใน บริษัทมหาชนนี้ได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนที่ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทมหาชน ควรพิจารณาถึงผลดีและผลกระทบของบริษัท ประเภทนี้ให้ดี เพราะการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับบริษัทมหาชน มักจะมีกฎหมายคุมไว้เสมอ นอกจากบริษัท มหาชนจะถูกควบคุมโดยกฎหมายวิสาหกิจแล้ว ยังมีกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจน ข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายย่อยอื่น ๆ ที่กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทมหาชนไว้เช่นกัน ดังที่จะได้กล่าวใน รายละเอียดต่อไปในบทความฉบับหน้า



กลับหน้าหลัก