กฎระเบียบที่ควรรู้

ข้อคิดเห็นของไทยเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟลาว - จีน

นายโจ ฮอร์น พัฒโนทัย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท Strategy 613 จำกัด ที่ปรึกษาองค์กรเอกชนขนาดใหญ่
และหน่วยงานของรัฐในการลงทุนทำธุรกิจระหว่างไทยกับจีน กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทฯ สามารถขนส่งสินค้า รวมทั้ง
วัสดุบรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์จากจีนมาไทยผ่านทางรถไฟลาว-จีน ได้แล้ว และชื่นชมความพยายาม
ของรัฐบาลไทยในการเพิ่มการเชื่อมโยงประเทศกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม
และการค้า

ในรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุว่า เส้นทางรถไฟลาว-จีน เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ
ของโครงข่ายรถไฟทั่วเอเชีย ที่จะเชื่อมโยงนครคุนหมิง มณฑลยูนนานกับกรุงเทพ และสิงคโปร์ โดยปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมของไทย
อยู่ระหว่างการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างพรมแดนแบบไร้รอยต่อ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเชื่อมโยงทางรถไฟถือเป็นโอกาสสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันไทย
ให้บริการรถไฟโดยสารและขนส่งสินค้าไปยังสถานีท่านาแล้ง ในนครหลวงเวียงจันทน์ นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย
ได้รับคำสั่งจากคณะรัฐมนตรีให้สร้างสะพานแห่งที่สองที่จังหวัดหนองคาย ไปยัง สปป. ลาว ซึ่งเชื่อมระหว่างไทยกับเส้นทาง
รถไฟลาว-จีน

ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
ไทยจำเป็นต้องเร่งเชื่อมโยงกับรถไฟลาว-จีน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศเร่งปฏิรูประบบโลจิสติกส์และการขนส่ง โดยในช่วง
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านเส้นทางทะเลจากไทยไปยังยุโรป
และอเมริกา เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 200 ซึ่งสูงกว่าถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาด โดยเส้นทางรถไฟลาว-จีน
จะสามารถช่วยให้ไทยขนส่งสินค้าไปยังจีน เอเชียกลาง และในยุโรปที่เข้าร่วมในโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางได้

ในเดือน มี.ค. 2564 รัฐบาลไทยและกลุ่มการก่อสร้างของจีนได้ลงนามในข้อตกลงสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย
ระยะแรกที่จะเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับจังหวัดนครราชสีมาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยตั้งเป้าจะเปิดให้บริการ
ในปี 2569

ที่มา: นสพ. Vientiane Times วันที่ 21 ม.ค. 2565

01/28/2022



กลับหน้าหลัก