44 ปี การพัฒนาด้านพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป. ลาว

ดร. คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว ได้กล่าวย้อนไปถึงการดำเนินงานด้านพลังงาน
และเหมืองแร่เมื่อสมัยก่อนปี 2518 ว่า งานด้านดังกล่าวไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ขณะนั้น สปป. ลาวมีแหล่งผลิต
ไฟฟ้าน้ำตกขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ เขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 กำลังการผลิตติดตั้งเพียง 30 เมกกะวัตต์ และเขื่อนไฟฟ้า
ขนาดเล็ก 2 แห่ง คือ เขื่อนน้ำดง แขวงหลวงพระบาง กำลังการผลิตติดตั้ง 1 เมกกะวัตต์ และเขื่อนเซละบำ 
แขวงจำปาสัก กำลังการผลิตติดตั้ง 1 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ มีการใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันในตัวเมืองใหญ่
บางแห่ง โดยรวมทั้งประเทศประชาชนมีไฟฟ้าใช้เพียง 19,000 ครัวเรือน หรือร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด 
ใน 5 เมืองใหญ่ ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง คำม่วน สะหวันนะเขต และจำปาสัก 

นับตั้งแต่ปี 2529 กระทรวงพลังงานฯ ได้วางแนวทางพัฒนาประเทศเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยและยั่งยืนเพื่อนำไปสู่
เป้าหมายการเป็นสังคมนิยม โดยพัฒนาพลังงานและเหมืองแร่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 
รัฐบาลได้สำรวจแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการ
ภายในประเทศและการส่งออก โดยแบ่งแผนงาน/โครงการใหญ่ ๆ เป็นระยะสั้น กลาง และยาว 

เมื่อปี 2540 รัฐบาล สปป. ลาวได้ประกาศใช้กฎหมายไฟฟ้าและออกนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 
ทำให้มีนักลงทุนจากหลายประเทศเริ่มเข้ามาลงทุนใน สปป. ลาวในรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ 
(Independence Power Producer - IPP) การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของ สปป. ลาวได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว 
ในปี 2548 สปป. ลาวมีเขื่อนไฟฟ้าทั้งหมด 9 แห่ง มีกำลังผลิตติดตั้ง 679 เมกกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 
3,236 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และปัจจุบัน สปป. ลาวมีแหล่งผลิตไฟฟ้าแล้ว 71 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 
9,531 เมกกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 50,438 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ประกอบด้วยเขื่อนไฟฟ้าขนาดกลางถึงใหญ่ 
34 แห่ง เขื่อนขนาดเล็ก (น้อยกว่า 15 เมกกะวัตต์) 35 แห่ง โครงการไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง โครงการไฟฟ้าพลังงาน
ชีวมวล 4 แห่ง และโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 6 แห่ง ขณะเดียวกัน สปป. ลาวได้พัฒนาระบบสายส่ง
ไฟฟ้าแรงสูง กลาง และต่ำ รวมความยาวทั้งหมด 64,000 กิโลเมตร และมีสถานีจ่ายไฟฟ้าอีก 71 แห่ง  

ปัจจุบันรัฐบาล สปป. ลาวสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าของเทศบาลแขวง นครหลวง เมือง และนคร
ได้ร้อยละ 100 หมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้แล้วมีร้อยละ 92 และครอบครัวมีไฟฟ้าใช้แบบถาวรแล้วร้อยละ 95 การใช้ไฟฟ้า
ภายในประเทศแบ่งออกเป็นการใช้ไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยร้อยละ 36.31 อุตสาหกรรมร้อยละ 40.6 และอื่น ๆ 
ร้อยละ 23.09 และการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ 4,328 เมกกะวัตต์ คาดว่าปลายปี 2563 สปป. ลาวจะสามารถ
ส่งออกได้ประมาณ 36,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง จึงกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีส่วนสำคัญในการพัฒนา
เศรษฐกิจและสังคมของ สปป. ลาว และขจัดความยากจนของประชาชน รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 

ดร. คำมะนีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานขยายตัว อุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็พัฒนาและขยายตัว
อย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2518 รัฐบาล สปป. ลาวได้กำหนดแผนการศึกษาค้นคว้าในสาขาดังกล่าว ปัจจุบันค้นพบ
แหล่งแร่ธาตุกว่า 570 จุด บนพื้นที่ประมาณ 162,104 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 68.46 ของพื้นที่ทั้งประเทศ 
ประกอบด้วยทอง ทองแดง เงิน นิกเกิล ดีบุก ถ่านหิน บอกไซต์ ยิปซัม เหล็ก อัญมณี เกลือ เกลือโพแทสเซียม 
กำมะถัน สังกะสี หินอ่อน หินปูน หินโดโลไมท์ แบเรียม 

นับตั้งแต่ปี 2533 รัฐบาล สปป. ลาวได้อนุญาตให้นักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนใน
อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ปัจจุบันได้อนุญาตให้บริษัทลงทุนแล้ว 275 บริษัท ใน 449 กิจการ ได้แก่ บริษัทที่อยู่ระหว่าง
การขุดค้น 27 บริษัท ใน 39 กิจการ บริษัทที่อยู่ในขั้นตอนการสำรวจ 66 บริษัท ใน 115 กิจการ บริษัทที่อยู่ในขั้นตอน
การศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐกิจและเทคนิค 54 บริษัท ใน 81 กิจการ บริษัทที่อยู่ในขั้นตอนสัมปทานขุดค้น 
79 บริษัท ใน 141 กิจการ บริษัทที่อยู่ระหว่างการจัดทำบทวิพากษ์เศรษฐกิจและเทคนิค 35 บริษัท ใน 38 กิจการ 
และบริษัทที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 14 บริษัท ใน 35 กิจการ ซึ่งรวมถึงโครงการขุดค้นแร่ธาตุขนาดใหญ่ คือ 
โครงการบ่อคำ – ทองเซโปน และโครงการคำทองพูเบี้ย ซึ่งเป็นโครงการขุดค้น ผลิต และส่งออกทองคำผสมเงิน 
ทองผง และทองแผ่นไปยังต่างประเทศ 

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 25 พ.ย. 2562 
https://laoedaily.com.la/2019/11/25/65602/

12/18/2019



กลับหน้าหลัก