โครงการความร่วมมือค้นคว้านโยบายการสร้างเสถียรภาพทางด้านการเงินใน สปป. ลาว

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ร่วมกับสถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติลาว (NIER)
จัดการประชุมรายงานผลการดำเนินโครงการความร่วมมือค้นคว้านโยบายการสร้างเสถียรภาพทางด้านการเงินใน สปป. ลาว
เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะด้านนโยบายต่าง ๆ แก่รัฐบาล สปป. ลาว เนื่องจาก สปป. ลาวกำลังเผชิญกับปัญหาขาดดุลการเงิน
เนื่องจาก สปป. ลาวกู้ยืมเงินจำนวนมากจากจีนเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญจาก JICA และ NIER เสนอให้รัฐบาล สปป. ลาวเปลี่ยนจากการพึ่งพาการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศระยะสั้น
มาเป็นการกู้ยืมระยะยาวพร้อมกับรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่ง สปป. ลาวมีข้อกังวลเกี่ยวกับกับดักหนี้
จากการกู้ยืมเงินมากเกินไป ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเห็นว่า สปป. ลาวจำเป็นต้องคำนึง
ถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาล สปป. ลาวพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคโดยลดการขาดดุลการคลัง
และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารหนี้สาธารณะ ส่งผลให้การขาดดุลการคลังของ สปป. ลาวลดลงมาที่ร้อยละ 4.3
ของ GDP ในปี 2562 จากร้อยละ 4.4 ในปี 2561 และร้อยละ 5.5 ในปี 2560 นอกจากนี้ รัฐบาล สปป. ลาวอยู่ระหว่างการเพิ่ม
ประสิทธิภาพการบริหารรายได้โดยใช้ระบบการจัดเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
และคงรายจ่ายค่าแรงงานและการลงทุนไว้เท่าเดิม

ที่มา: เว็บไซต์ The Laotian Time วันที่ 10 ม.ค. 2563
https://laotiantimes.com/2020/01/10/japan-to-help-laos-with-fiscal-stability/

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. โครงการข้างต้นสืบเนื่องมาจากการร้องขอโดยนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ต่อนายชินโซ อาเบะ
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในช่วงการเจรจาระดับสูง สปป. ลาว – ญี่ปุ่น เมื่อเดือน พ.ค. 2559 ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น 
ไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสถียรภาพทางการเงินแก่ สปป. ลาว ต่อมา JICA และ NIER
ได้ร่วมกันศึกษา 4 หัวข้อหลัก คือ การควบคุมงบประมาณและหนี้สาธารณะ การควบคุมการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ
ดุลชำระกับต่างประเทศและเงินสำรองระหว่างประเทศ และการพัฒนาระบบการเงิน 

2. ที่ประชุมได้มีข้อเสนอ 7 ประการ เพื่อให้ สปป. ลาวบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 – 2568)
ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งในการบริหารการคลังและการบริหารประเทศ การเพิ่มรายได้ภาษี โดยการขยายฐานผู้เสียภาษี
การเพิ่มประสิทธิภาพของรายจ่ายงบการเงิน การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ การลดความเสี่ยงทางการเงิน
จากหนี้สินปัจจุบัน การสร้างระบบของสถาบันการเงินให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงการใช้สถิติ
งบการเงินในการติดตามและวางแผนนโยบาย

3. นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2563 กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว ได้จัดการประชุมทบทวนการดำเนิน
โครงการความช่วยเหลือแบบให้เปล่าและกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่น ประจำปี 2562 โดยมีโครงการกู้ยืมเงินดอกเบี้ย แบบผ่อนผัน
จำนวน 1 โครงการ และโครงการช่วยเหลือแบบให้เปล่าจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1
โครงการพัฒนาโรงพยาบาลเสดถาทิลาดและโรงพยาบาลแขวงจำปาสัก โครงการสร้างระบบขนส่งในตัวเมืองแบบยั่งยืน
และโครงการปรับปรุงการเรียนและการสอนในชั้นประถมศึกษา

01/24/2020



กลับหน้าหลัก