สถานการณ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ใน สปป. ลาว
เมื่อวันที่ 4 – 5 ก.พ. 2563 ดร. คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว เป็นประธานการประชุม
สรุปผลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ครั้งที่ 8 และการกำหนดทิศทางแผนพัฒนา 5 ปี ครั้งที่ 9 ณ หอประชุมแห่งชาติ
นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ที่ประชุมรับทราบว่า เมื่อปี 2559 สภาแห่งชาติลาวออกคำสั่งระงับการอนุมัติการดำเนินกิจการเหมืองแร่ เนื่องจากบางโครงการ
ไม่ดำเนินการตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ เมื่อเดือน พ.ค. 2560 รัฐบาล สปป. ลาว ระงับการอนุมัติสัมปทานขุดค้น
เหมืองแร่ 15 โครงการเนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ ส่งผลให้การพัฒนาเหมืองแร่ของ สปป. ลาวลดลง
ร้อยละ 18.69
ในช่วงปี 2559 - 2563 กระทรวงพลังงานฯ ได้ออกใบอนุญาตการขุดค้นแร่ธาตุจำนวน 193 โครงการ ประกอบด้วยการขุดค้น
และสำรวจ 69 โครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ 43 โครงการ และอยู่ระหว่างขุดค้น 81 โครงการ ซึ่งลดลง 44 โครงการ
จากช่วงปี 2554 - 2558 การจำหน่ายและส่งออกแร่ธาตุลดลงร้อยละ 13.31 และ 15.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปี
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยังคงทำรายได้ให้รัฐบาลมูลค่า 734 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบันการสำรวจด้านธรณีวิทยาและการสำรวจแร่ธาตุครอบคลุมพื้นที่ 162,000 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 68.4 ของพื้นที่ประเทศ
ขณะที่การสำรวจเหมืองทองครอบคลุมพื้นที่ 234.6 ตารางกิโลเมตร ที่แขวงไซสมบูน ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างบริษัท
Jo Bounmy Mining Development จำกัด กับกระทรวงป้องกันประเทศ โดยจะใช้เวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ 2 ปี และ
ศึกษาความเป็นไปได้ด้านเทคนิคและเศรษฐกิจ 3 ปี รายงานของสถาบันเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาแห่งชาติระบุว่า
สปป. ลาวเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ มากที่สุดในเอเชีย มีแหล่งเหมืองแร่มากกว่า 570 แหล่ง
รวมทั้งทองแดง สังกะสี และตะกั่ว โดยส่วนใหญ่ สปป. ลาวส่งออกแร่ไปยังจีน เวียดนาม และไทย
ที่มา: นสพ. Vientiane Times วันที่ 6 ก.พ. 2563
และเว็บไซต์ Laotian Times วันที่ 6 ก.พ. 2563
https://laotiantimes.com/2020/02/06/laos-mining-sector-sees-decline-despite-rich-resources/
02/14/2020