รัฐบาล สปป. ลาว ออกนโยบายและมาตรการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวได้มีข้อตกลง เลขที่ 31/นย. ลว. 2 เม.ย. 2563 ว่าด้วยการกำหนดนโยบายและมาตรการ
เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจลาว สรุปสาระได้ดังนี้

1. ด้านนโยบาย
    1.1 ภาษีรายได้
          1.1.1 ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้สำหรับ จนท./ลูกจ้างภาครัฐและภาคเอกชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5 ล้านกีบ และ MSMEs
เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย. - มิ.ย. 2563)
          1.1.2 ยกเว้นการเก็บภาษี อากร และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สำหรับการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นและ
เตรียมความพร้อมรับมือกับแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย น้ำยาล้างมือ อุปกรณ์การแพทย์
          1.1.3 เลื่อนการเก็บภาษีอากรจากผู้ประกอบธุรกิจบริการท่องเที่ยวเป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย. - มิ.ย. 2563)
    1.2 ขยายเวลาการส่งรายงานทางการเงินและผลประกอบการปี 2562 ของวิสาหกิจจากวันที่ 31 มี.ค. 2563
เป็นวันที่ 30 เม.ย. 2563
    1.3 ขยายเวลาการชำระค่าธรรมเนียมการใช้ถนนจากวันที่ 31 มี.ค. 2563 เป็น 30 มิ.ย. 2563
    1.4 ศึกษาความเป็นไปได้ในการผ่อนผันและขยายเวลาการชำระค่าไฟฟ้าและน้ำประปาของผู้ใช้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
    1.5 ให้ธนาคารแห่ง สปป. ลาวดำเนินการดังนี้
          1.5.1 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของธนาคารแห่ง สปป. ลาว และปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองฝากประจำ
ของธนาคารพาณิชย์ตามความเหมาะสม
          1.5.2 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามนโยบายสินเชื่อเพื่อบรรเทาผลกระทบ เช่น การเลื่อนเวลา
ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การปรับลดอัตราดอกเบี้ย อนุมัติวงเงินกู้ใหม่แก่ภาคธุรกิจ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การจัดชั้นหนี้
    1.6 ขยายเวลาการชำระค่าประกันสังคมภาคบังคับของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบออกไป 3 เดือน (เม.ย. - มิ.ย. 2563)

2. ด้านมาตรการ
    2.1 มอบหมายให้ ก. แผนการและการลงทุนศึกษาเพื่อปรับตัวเลขการขยายตัวของ GDP และตัวเลข การคาดการณ์
เศรษฐกิจมหภาคปี 2563 ที่สำคัญให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบ ตั้งแต่บัดนี้จนถึง
การประชุมสภาแห่งชาติชุดที่ 8 สมัยสามัญ ครั้งที่ 9
    2.2 มอบหมายให้ ก. แผนการและการลงทุน ก. การเงิน ก. อุตสาหกรรมและการค้า ธนาคารแห่ง สปป. ลาว และหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค เช่น ควบคุมราคาสินค้าและอัตราแลกเปลี่ยน จัดเก็บรายได้และจัดการหนี้สิน
ผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้สามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งอำนวยความสะดวก เพื่อดึงดูดการลงทุน
ของภาคเอกชน
    2.3 มอบหมายให้ ก. การเงิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บรายได้ให้มากเท่าที่จะทำได้ ควบคุมรายจ่ายงบประมาณ
อย่างรัดกุม โดยเร่งจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบที่มีศักยภาพและไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19
ในขณะเดียวกันให้ลดรายจ่ายการบริหารกระทรวงและหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่นลงอย่างน้อยร้อยละ 10 ของแผนประจำปี
และลดรายจ่ายของกองทุนวิจัยวิทยาศาสตร์และรายจ่ายอื่น ๆ เช่น การจัดการประชุม การต้อนรับแขกจากต่างประเทศ
การเฉลิมฉลองวันสำคัญต่าง ๆ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำเงินมาสมทบในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
และให้เลื่อนการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของรัฐด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (โครงการใหม่) ในปี 2563 ที่ผ่านการรับรอง
จากสภาแห่งชาติ ออกไปเป็นปี 2564 โดยขอให้ตรวจสอบ ระงับ หรือปรับลดมูลค่าโครงการลงทุนของรัฐ ที่มีมูลค่าสูงกว่า
ความเป็นจริงและขาดประสิทธิภาพ
    2.4 เร่งศึกษามาตรการส่งเสริมการผลิตสินค้า โดยเฉพาะส่งเสริมการทำงานของกองทุนส่งเสริม SMEs ให้มีผลเป็นรูปธรรม
    2.5 ศึกษาและจัดทำคำแนะนำในการปรับปรุงและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในฤดูท่องเที่ยว 3 เดือนสุดท้าย ของปี 2563
    2.6 เตรียมการผลิตและเจรจากับบริษัทที่สั่งซื้อแร่ธาตุจากจีนและประเทศต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อม เมื่อประเทศคู่ค้า
ประกาศเร่งการผลิตในอุตสาหกรรมแร่ธาตุ
    2.7 ติดตาม ตรวจสุขภาพ และคุ้มครองแรงงานลาวที่กลับมาจากต่างประเทศ โดยให้กักกันตัวเอง 14 วัน และออกใบรับรอง
ให้แก่แรงงานที่ผ่านการติดตามและตรวจสุขภาพแล้ว เพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้
    2.8 ศึกษาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจการบินลาวเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจหลังจาก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาล สปป. ลาว วันที่ 2 เม.ย. 2563
http://laogov.gov.la/activities/pages/press.aspx?ItemID=139&CateID=0

04/09/2020



กลับหน้าหลัก