ธนาคารโลกประเมินปีนี้เศรษฐกิจลาวจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.6
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2563 ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
ฉบับเดือน เม.ย. 2563 ในหัวข้อ “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19
(East Asia and Pacific in Time of COVID-19)” ซึ่งระบุว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
จะขยายตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ในกรณีการระบาดไม่รุนแรง และอาจติดลบร้อยละ 0.5 ในกรณีรุนแรง ซึ่งลดลงจาก
ที่คาดการณ์ไว้ เมื่อปี 2562 ที่ร้อยละ 5.8
สำหรับเศรษฐกิจลาว ธนาคารโลกคาดว่า การระบาดของโรคโควิด 19 จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลาว ในปี 2563
อยู่ในร้อยละ 3.6 ในกรณีการแพร่ระบาดไม่รุนแรง และอาจจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 ในกรณีรุนแรง ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2564
เศรษฐกิจลาวจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.8 ซึ่งภาคบริการจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9
จากร้อยละ 6.7 ในปี 2562 ในขณะที่ภาคการเกษตรจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ผลกระทบจากโควิด 19 ยังทำให้เกิดความยากจนมากขึ้น หลายประเทศต้องใช้เงินลงทุนในการพัฒนาระบบสาธารณสุข
และออกนโยบายทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า หากการระบาด ไม่ขยายวงกว้าง
ประชากรในภูมิภาคจะพ้นจากความยากจน 24 ล้านคน (ใช้เกณฑ์แบ่งความยากจนที่ 5.50 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน) หากเศรษฐกิจ
ขยายตัวลดลงกว่านี้และการแพร่ระบาดขยายวงกว้าง คาดว่า จะมีประชากรยากจนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 11 ล้านคน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2563 ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 35 ล้านคน
จะหลุดพ้นจากความยากจน
นาย Aaditya Mattoo หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า นอกจากประเทศต่าง ๆ
จะออกมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของตนแล้ว การเปิดเสรีทางการค้า การประสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพ ในการรับมือกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ โดยเฉพาะ
ความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์และบริการทางการแพทย์
และสินค้าจำเป็นอื่น ๆ ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อลดผลกระทบเฉพาะหน้าอีกประการ คือ การให้สินเชื่อและการลดหนี้สินให้แก่ประชาชนและ
ภาคธุรกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ช่วยให้ประชาชนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ และช่วยให้ภาคธุรกิจอยู่รอดในสถานการณ์
ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยฉับพลัน อีกทั้งจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและช่วยให้ภาครัฐ ใช้ทรัพยากรที่สำคัญ
ในการจัดการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้
ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ วันที่ 7 เม.ย. 2563
https://laoedaily.com.la/2020/04/07/76024/?
04/16/2020
กลับหน้าหลัก