สปป. ลาวจะสูญเสียผลประโยชน์ทางการค้าหลังหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC)
ผลการศึกษาของศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (International Trade Centre) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสหภาพยุโรป
ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา สปป. ลาวได้รับประโยชน์จากระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี Generalized System of Preferences (GSP)
ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกของ สปป.ลาวเสียภาษีน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษีในการส่งออกไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม
เมื่อ สปป. ลาวหลุดพ้นจาก LDC จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวจากตลาด 24 แห่งทั่วโลก
ในช่วงปี 2557 - 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าของ สปป. ลาวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การศึกษาดังกล่าวคาดการณ์ว่า
มูลค่าการส่งออกอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567 ในกรณีที่ยังคงได้รับประโยชน์ทางการค้าสำหรับ LDC
ทั้งนี้ การหลุดพ้นจากสถานะ LDC จะส่งผลให้ สปป. ลาวสูญเสียมูลค่าการค้ารวม 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจได้รับการชดเชย
จากการส่งเสริมการค้าและศักยภาพ ด้านการส่งออกของ สปป. ลาว 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม สปป. ลาวยังคงเผชิญ
กับความท้าทาย หลายอย่าง ได้แก่ การขาดดุลการค้า เนื่องจาก สปป. ลาวนำเข้ามากกว่าส่งออก การขึ้นภาษีศุลกากรของประเทศ
ต่าง ๆ ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีการจัดทำข้อตกลงด้านการค้าเสรีเพิ่มขึ้น
ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการถอนสิทธิพิเศษ GSP เนื่องจาก สปป. ลาวส่งออกเสื้อผ้าจำนวนมาก
ไปตลาดยุโรป ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และแคนาดา โดยผู้ประกอบของลาวได้รับประโยชน์
จากการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางการค้า ทั้งนี้ คาดว่า สปป. ลาวจะสูญเสียมูลค่าทางการค้าสำหรับ
การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดาในสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 10 ของการส่งออกที่คาดการณ์ไว้
งานวิจัยดังกล่าวได้ให้คำแนะนำเพื่อลดความสูญเสียทางการค้า 3 ประการ ได้แก่ (1) การได้รับสถานะ EU Generalized System
of Preferences Plus (GSP+) ทดแทนสิทธิพิเศษ GSP จะช่วยลดการสูญเสียมูลค่า ทางการค้าลงประมาณร้อยละ 70 (2) การส่งเสริม
การค้าแบบกำหนดเป้าหมายจะช่วยขจัดอุปสรรคของตลาด และช่วยให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถส่งออกได้ในบางตลาดเช่น
กรณีการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปและอาหาร ไปยังญี่ปุ่น สามารถส่งออกได้ โดย สปป. ลาวอาจลงทุนในการส่งเสริมการค้า
และจ้างที่ปรึกษาเพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ก้าวข้ามอุปสรรค และเปิดโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการ และ (3) การกระจาย
การส่งออก โดยเน้นการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพไปยังตลาดทางเลือกจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออก เพื่อชดเชยความสูญเสีย
ที่เกิดจากการหลุดพ้นจากสถานะ LDC
ที่มา: นสพ. Vientiane Times วันที่ 3 ก.ย. 2563
09/11/2020
กลับหน้าหลัก