สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติเผยแพร่รายงานประเมินสภาพเศรษฐกิจมหภาคของ สปป. ลาว ปี 2563

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 นางลัดดาวัน ซงวิไล รักษาการหัวหน้าศูนย์ค้นคว้านโยบายเศรษฐกิจมหภาคและปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ
สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติ (สคสช.) เป็นประธานการประชุมเผยแพร่รายงานประเมินสภาพเศรษฐกิจมหภาคของ สปป. ลาว
ปี 2563 โดยมีหัวหน้ากรม รองหัวหน้ากรม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ในปี 2563 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นทั้งในและนอกภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สปป. ลาว โดยเฉพาะการระบาด
ของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจ สปป. ลาวขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ ในขณะเดียวกันรัฐบาล สปป. ลาว
ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ สคสช. ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคและ
เผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นให้กับรัฐบาลเพื่อรับมือกับผลกระทบ ทางเศรษฐกิจ โดยปีนี้ยังครบรอบ 10 ปีการเผยแพร่
รายงานดังกล่าวด้วย

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ของ สปป. ลาว เช่น
ไทย จีน เวียดนาม จะขยายตัวร้อยละ 2.7 8.1 และ 6.7 ตามลำดับ สำหรับเศรษฐกิจ สปป. ลาวจะปรับตัวดีขึ้นและคาดว่า
ขยายตัวร้อยละ 4 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมแปรรูป
เพื่อการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับตัวเข้ากับวิถี New Normal ที่ลดการนำเข้า
จากต่างประเทศและหันมาบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศมากขึ้น และการปรับปรุงภาคการผลิตและการบริการ
ภายในประเทศให้ดีขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าวจะช่วยผลักดันการผลิตในภาคการเกษตรโดยเฉพาะการเพาะปลูก
รวมทั้งความต้องการแรงงาน ในหลายภาคส่วนที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างงานและรายได้ให้ประชาชนเพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกัน คาดว่า ตลาดต่างประเทศจะมีความต้องการสินค้าเกษตรของ สปป. ลาวเพิ่มขึ้น ราคาแร่ธาตุในตลาดโลก
ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของ สปป. ลาวเพิ่มกำลังการขุดค้นและผลิตมากขึ้น
โดยเฉพาะแร่ทองและทองแดง นอกจากนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
ยังจะช่วยกระตุ้นการส่งออกและการบริการของ สปป. ลาวในปี 2564

นโยบายปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยต่ำจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันการลงทุนภายในประเทศ
โดยในปี 2563 รัฐบาล สปป. ลาวได้สนับสนุนเงินทุนวงเงิน 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับกองทุนส่งเสริม SMEs
และคาดว่าในปี 2564 จะยังคงปล่อยสินเชื่อจากวงเงินดังกล่าว รวมทั้งวงเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากธนาคารพัฒนาแห่งชาติจีน และอีก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารโลกเพื่อช่วยให้ SMEs ฟื้นตัวภายหลัง
จากการระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2564 จะมีการผ่อนผันเงื่อนไขสำคัญในการเข้าถึงแหล่งทุนดังกล่าว
และเงินทุนส่วนใหญ่จะถูกอัดฉีดเข้าในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาค การผลิตและการบริการ
ของ SMEs ใน สปป. ลาว

รายงานฉบับดังกล่าวได้วิเคราะห์โอกาสของการพัฒนา สปป. ลาวในอนาคตและความท้าทาย ดังนี้

1. โอกาสในการยกระดับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการสร้างฐานการผลิตใน สปป. ลาว
2. โอกาสในการปรับปรุง ส่งเสริม และสร้างเข้มแข็งให้แก่การผลิตภายในประเทศ ในช่วงการปิดด่านพรมแดน
ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าลำบากขึ้น
3. โอกาสในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบเข้ากับวิถี New Normal ความสามารถในการขยายตลาดสินค้าให้กว้างขึ้น
ผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันและปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น
4. ความท้าทายในการสกัดกั้นและป้องกันเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดรอบใหม่ เนื่องจากการระบาดรอบใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน
5. ความเปราะบางของเศรษฐกิจมหภาคทั้งด้านงบประมาณ การเงิน การคลัง และเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่สร้าง
ความกดดันต่อการชำระหนี้สินของภาครัฐ และส่งผลต่อค่าเงินกีบ กล่าวคือ ความเชื่อมั่นการถือครองเงินกีบลดลง

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 12 ก.พ. 2564

02/19/2021



กลับหน้าหลัก