การประชุมสรุปโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ IT Platform เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการคุ้มครองรถขนส่งสินค้าสากล

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป. ลาว เป็นประธาน
การประชุมสรุปโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ IT Platform เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการคุ้มครองรถขนส่งสินค้าสากล
โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำ สปป. ลาว JICA ประจำ สปป. ลาว สมาคมผู้ขนส่ง
และจัดส่งระหว่างประเทศ สปป. ลาว และภาคเอกชนเข้าร่วม โดยโครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ
การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI)

สปป. ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทยเป็นประเทศที่มีชายแดนร่วมกันตามความยาวของแม่น้ำโขง โดย สปป. ลาว
เป็นจุดยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงระหว่างประเทศดังกล่าวกับจีน ทั้งมีศักยภาพในการพัฒนาระบบขนส่งทางบกและ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัย เช่น การสร้างเส้นทางที่ได้มาตรฐานอาเซียน การยกระดับการคุ้มครอง
การขนส่งด้วยการใช้ระบบ IT และกลไกการประสานงานระหว่างประเทศในเส้นทางดังกล่าว

การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ IT Platform ในระบบบริหารการขนส่งสินค้าผ่านแดนของ สปป. ลาว มีวัตถุประสงค์
เพื่อประเมินผลระบบดังกล่าวในการตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน และสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศชาติ
และเศรษฐกิจ ระบบ IT Platform เป็นระบบติดตามและตรวจสอบรถขนส่งสินค้าจากต้นทางถึงปลายทาง โดยการป้อนข้อมูล
ของรถขนส่งดังกล่าวในระบบ โครงการฯ ครอบคลุมเฉพาะการศึกษาการขนส่งสินค้าในเส้นทาง R 9 เชื่อมโยงจากสะพานมิตรภาพ
ไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) ถึงด่านสากล สปป. ลาว – เวียดนาม (แดนสะหวัน – ลาวบาว) รวมระยะทาง
ประมาณ 224 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที โดยในแต่ละปีมีรถขนส่งสินค้าผ่านแดนกว่า 2,000 คัน

ผลการศึกษาด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าพบว่า การศึกษาดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญใน การพัฒนาภาคการขนส่งทางบก
ของ สปป. ลาว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับการขนส่งสินค้าผ่านแดนให้มีความรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์
ลดต้นทุน และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้าได้ทันการณ์ และสามารถแจ้งเตือนสถานการณ์การขนส่งสินค้าได้
ปัจจุบัน สปป. ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ระหว่างยกระดับการบริการดังกล่าวให้ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีในการคุ้มครอง ติดตาม
และตรวจสอบระบบ การขนส่งสินค้าผ่านแดนและระหว่างประเทศ โดยใช้ระบบ ASYCUDA

ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว ซึ่งมีความจำเป็นและสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับระบบ
ขนส่งที่อำนวยความสะดวกให้กับการค้าระหว่างประเทศด้วย

ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการค้าของ สปป. ลาว วันที่ 18 ก.พ. 2564
https://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/display&id=2227

02/26/2021



กลับหน้าหลัก