กระทรวงการเงิน สปป. ลาวออก 4 มาตรการควบคุมรายจ่าย งปม. ปี 2564

นายพูวง กิดตะวง หัวหน้ากรม งปม. แห่งรัฐ กระทรวงการเงิน สปป. ลาว ได้นำเสนอมาตรการควบคุมรายจ่ายงบประมาณ
ปี 2564ต่อที่ประชุมการสรุปผลดำเนินงานตามแผนงบประมาณในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 และคาดการณ์แผน งปม.
ของทั้งปี 2564 ดังนี้

1. ออกมาตรการการควบคุมรายจ่าย ปี 2564 โดยอนุมัติให้เบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการป้องกัน การระบาดของโรคโควิด 19
เงินเดือนและเงินอุดหนุนข้าราชการ ค่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ น้ำมันรถ และ ไม่อนุญาตให้ฝ่าย งปม. ของหน่วยงานส่วนกลาง
และท้องถิ่นขออนุมัติเบิกจ่ายสำหรับการบริหารบางประเภท ในช่วงนี้ เช่น การเดินทางไปราชการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
การจัดการประชุม งานสัมมนา การต้อนรับแขกต่างประเทศ การจัดซื้อพัสดุหรือครุภัณฑ์ การซ่อมบำรุง และรายจ่ายอื่น ๆ ในกรณีที่
หน่วยงานใดได้อนุมัติงปม.ไป แล้วจะไม่อนุญาตให้เบิกเงิน หรือกรณีที่คลังแห่งชาติได้รับเอกสารขอเบิกเงินแล้วให้ยุติการเบิกจ่าย
และขอให้ฝ่ายงบประมาณส่วนกลางและท้องถิ่นใช้มาตรการลดรายจ่ายและรัดเข็มขัด สำหรับรายจ่ายประเภท เงินลงทุนของรัฐ
ให้ระงับเงินสนับสนุนการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการวางแผนลดรายจ่ายด้านการบริหาร และเงินสนับสนุนหน่วยงานส่วนกลาง
ร้อยละ 15 และส่วนท้องถิ่นร้อยละ 10

2. ปรับปรุงกลไกการเบิกจ่ายเงินเดือนตามแจ้งการห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี โดยเน้นการลดขั้นตอนการยื่นและตรวจสอบเอกสาร
ให้เกิดความรวดเร็ว หลังจากที่แผนการจ่ายเงินเดือนและเงินอุดหนุนได้รับการรับรองแล้ว ให้ฝ่าย งปม. จัดทำใบถอนเงินเพื่อถอนเงิน
จากคลังเงินแห่งชาติ สำหรับการจ่ายเงินเดือนให้อิงตามฐานเงินเดือนล่าสุด และให้ธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีในเดือนถัดไปทุกวันที่ 25
ของเดือน โดยไม่ต้องรอเอกสารขอเบิกจ่ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. ปฏิบัติตามนโยบายเงินบำเหน็จสำหรับการเก็บรายรับเกินแผนประจำปี 2563 ของท้องถิ่น ท้องถิ่นใด ที่จัดเก็บรายรับได้เกินแผนประจำปี
(ไม่รวมการจัดเก็บภาษีอวยหนี้ 3 แจ ปี 2563) อนุญาตให้ท้องถิ่นนั้นใช้เงิน ที่เกินแผนประจำปีได้ทั้งหมด สำหรับรายรับที่เกิดการจัดเก็บ
ภาษีอวยหนี้ 3 แจ ปี 2563 สามารถใช้ได้ร้อยละ 50 และส่วนที่เหลือให้ส่งคืนส่วนกลางเพื่อใช้ในการเสริมดุล งปม. ในภาพรวม และ
หากท้องถิ่นใดไม่สามารถจัดเก็บรายรับได้ตามแผนประจำปี แต่หากคำนวณรายรับจากการจัดเก็บภาษีอวยหนี้ 3 แจแล้วมีรายรับ
เกินแผนประจำปี อาจพิจารณา (1) กรณีที่ให้ท้องถิ่นนำรายรับดังกล่าวไปใช้ร้อยละ 50 แล้วทำให้ท้องถิ่นมีรายรับเกินแผนประจำปี
ให้มอบส่วนที่เกินให้ท้องถิ่น และ (2) กรณีที่มอบให้ท้องถิ่นแล้วร้อยละ 50 แต่ยังไม่ได้บรรลุตามแผนประจำปี จะมอบรายรับให้ท้องถิ่น
เพิ่มตามสัดส่วนที่ยังขาดเพื่อให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายรับได้บรรลุตามแผนที่กำหนดไว้ หากท้องถิ่นใดไม่สามารถจัดเก็บรายรับได้ตามแผน
รวมทั้งรายรับจากการจัดเก็บภาษีอวยหนี้ 3 แจ ให้ท้องถิ่นใช้รายรับจากการจัดเก็บภาษีอวยหนี้ 3 แจได้ทั้งหมด โดยการใช้เงินเกินแผนประจำปี
ตามข้างต้นสามารถใช้ได้หลังจากสภาแห่งชาติรับรองการแก้ไขแผน งปม. ประจำปี 2564 และให้ใช้เพื่อการชำระหนี้สิน ค่าไฟฟ้า น้ำประปา
โทรศัพท์ การชำระหนี้สินโครงการลงทุนของรัฐที่มีประสิทธิภาพสูง การขจัดความยากจน สร้างอาชีพ สร้างงาน ผลักดันและส่งเสริมการออมเงิน
ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ใช้เงินเกินแผนประจำปีเพื่อจัดซื้อรถประจำตำแหน่งและรถเพื่อใช้ในงานบริหารอย่างเด็ดขาด

4. กระทรวงการเงินได้ร่วมกับห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรีศึกษาแนวทางปรับปรุงดำรัสว่าด้วย การคุ้มครองรถประจำตำแหน่งของผู้บริหาร
ระดับสูงเพื่อจัดทำดำรัสว่าด้วยรถของรัฐ โดยจะกำหนดจุดประสงค์ และเป้าหมายของการใช้รถของรัฐ

ทั้งนี้ ในปี 2564 สภาแห่งชาติลาวรับรองแผนรายรับทั้งหมด 27,629 พันล้านกีบ ประกอบด้วยรายรับภายในประเทศ 25,209 พันล้านกีบ
เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 2,420 พันล้านกีบ รายจ่าย 31,583 พันล้านกีบ การขาดดุลงบประมาณ 3,955 พันล้านกีบ คิดเป็นร้อยละ 2.17
ของ GDP (มูลค่า 182,603 พันล้านกีบ) โดยที่ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวและรัฐบาล สปป. ลาวพยายามลดหรือระงับการเบิกจ่ายงบประมาณ
บางรายการที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นในช่วงนี้ชั่วคราว

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ = 9,501 กีบ / อวยหนี้ 3 แจ คือ ทางออกที่รัฐบาล สปป. ลาวใช้ชำระหนี้ให้ลูกหนี้
ด้วยการขอให้ธนาคารตัดหนี้กับลูกหนี้แล้วรับพันธบัตรรัฐบาลชำระหนี้แทน ธนาคารจึงกลายเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล
ส่วนลูกหนี้ก็จะถูกตัดหนี้ออกไปทั้งหมดไม่มีภาระผูกพันกับธนาคาร

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า 28 มิ.ย. 2564

07/09/2021



กลับหน้าหลัก