ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจของ สปป. ลาวในปี 2564 จะเติบโตในระดับกลาง

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 รายงาน Lao PDR Economic Monitor ฉบับเดือน ส.ค. 2564 ของธนาคารโลกประจำ สปป. ลาว ระบุว่า
การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่คาดว่าจะส่งผลให้ GDP ลาวปี 2564 อยู่ที่ ร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่
ร้อยละ 0.5 และลดลงจากที่คาดการณ์ที่ร้อยละ 4 ในเดือน มี.ค. 2564เนื่องมาจากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศใกล้เคียง
การเร่งฉีดวัคซีนทั่วประทศ และการลดการระบาดในชุมชน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงมากกว่าตัวเลขที่
คาดการณ์ไว้หากการระบาด ของโรคโควิด 19 ยังรุนแรง รวมทั้งมาตรการ lock down ที่เข้มงวด หรือกรณี สปป. ลาว ได้รับผลกระทบ
จากภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงที่อาจเกิดช้ำ โดยภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นภาคขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
โดยเห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เช่น ไฟฟ้า แร่ธาตุ อุตสาหกรรมแปรรูปพบว่าฟื้นตัวเมื่อเทียบกับ
ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจส่วนใหญ่ในภาคการท่องเที่ยว การบริการ และการขนส่งกำลังเผชิญ
กับความท้าทายในการฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการ lock down และการคงการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งตัดโอกาส
ในการสร้างรายรับของประเทศ

รายงานดังกล่าวยังระบุว่าการอ่อนค่าของเงินกีบเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความกังวลในการเข้า
ถึงอาหารและสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ปัญหาดังกล่าวได้เพิ่มความกดดัน ต่อคนจนในเขตเมืองและเมืองใหญ่ต่าง ๆ
ในขณะที่อัตราจ้างงานเดือน พ.ค. 2564 ลดลง ในขณะเดียวกัน ธุรกิจครัวเรือนต่าง ๆ กว่าร้อยละ 30 ต้องปิดกิจการลงนับตั้งแต่
การระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากนี้ จากการสำรวจของธนาคารโลกพบว่ามูลค่าการขายต่อเดือนของภาคธุรกิจลดลง
ร้อยละ 48 ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2564 และกว่าครึ่งของจำนวนวิสาหกิจที่ได้ทำการสำรวจประสบปัญหาการขาดแคลนเงินสด
และคาดว่ากว่า 1 ใน 4 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดจะมีหนี้สินในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

รายงานดังกล่าวเสนอให้ สปป. ลาวเร่งปฏิรูปด้านธุรกิจและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้ประเทศได้รับผลประโยชน์
ที่เหมาะสมจากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้สร้างขึ้นใหม่และจากความตกลง ทางการค้าที่ สปป. ลาวเป็นภาคี การปฏิรูปดังกล่าว
จะสามารถบรรลุได้ด้วยการปรับปรุงระเบียบและขั้นตอน การลงทุนให้กะทัดรัดเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ปรับค่าบริการขนส่ง
คลังสินค้า และการเปลี่ยนถ่ายสินค้าให้ลดลง และปรับปรุงคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออก การขยายโครงการช่วยเหลือ
ของรัฐบาลให้กับภาคธุรกิจเพื่อช่วยให้วิสาหกิจปรับตัวและสร้างรายรับที่จำเป็นแก่ตนเอง ในขณะเดียวกัน มาตรการส่งเสริม
ให้วิสาหกิจลาวลงทุนด้านดิจิทัลหรือการจัดส่งและผลิตสินค้าและให้บริการในวิธีและรูปแบบใหม่จะช่วยเปลี่ยนวิกฤต
เป็นโอกาสแก่ภาคธุรกิจด้วย

ที่มา: เว็บไซต์ธนาคารโลก วันที่ 20 ส.ค. 2564
https://www.worldbank.org/lo/news/press-release/2021/08/19/lao-pdr-economy-recovers-then-falters-again-under-covid-19

09/03/2021



กลับหน้าหลัก