รัฐบาล สปป. ลาวออกนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าใน สปป. ลาว

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 รัฐบาล สปป. ลาวได้ออกมติว่าด้วยการรับรองและการประกาศใช้นโยบาย การใช้รถไฟฟ้าใน สปป. ลาว
เพื่อดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการคลัง โดยเฉพาะมาตรการประหยัด ลดการนำเข้า
น้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเพื่อลดการรั่วไหลของเงินตราต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ยานพาหนะและการก่อมลพิษ
จากรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่ง สปป. ลาวมีศักยภาพในการผลิต โดยตั้งเป้าจำนวนการใช้
รถไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 1 ของผู้ใช้ยานพาหนะภายใน ปี 2568 และร้อยละ 30 ภายในปี 2573 มติดังกล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. นโยบายสำหรับผู้นำเข้าและจำหน่ายรถไฟฟ้า
    1.1 ให้ปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยภาษี (กฎหมายว่าด้วยศุลกากร)
กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองส่วยสาอากร และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายรถไฟฟ้า
    1.2 รัฐจะไม่จำกัดโควตาการนำเข้ารถไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันด้านราคาตามกลไกตลาด โดยรถไฟฟ้าที่นำเข้าและ
จำหน่ายใน สปป. ลาวต้องมีคุณภาพ ความปลอดภัยด้านเทคนิคตามมาตรฐานสากล มีศูนย์บริการหลังการขาย ซ่อมบำรุง
และเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งมีระบบกำจัดและจัดการแบตเตอรี่ ที่เสื่อมสภาพและเศษเหลือใช้จากกิจการรถไฟฟ้า
เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
    1.3ให้มีการกำหนดป้ายหรือเครื่องหมายเพื่อเป็นสัญลักษณ์สำหรับรถไฟฟ้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไปสามารถจำแนกได้ง่าย

2. นโยบายสำหรับผู้ผลิตและประกอบรถไฟฟ้า – รัฐส่งเสริมให้บุคคล/นิติบุคคลภายในประเทศและต่างประเทศที่สนใจลงทุน
สร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ อะไหล่ และการประกอบรถไฟฟ้า เพื่อให้บริการภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ
โดยการสนับสนุนด้านศุลกากรและภาษีการนำเข้าในอัตราที่เหมาะสม สำหรับการนำเข้าอุปกรณ์และอะไหล่ เพื่อประกอบเป็นรถไฟฟ้า
 รัฐบาล สปป. ลาวจะผ่อนผันภาษีกำไรและค่าเช่าสัมปทานที่ดินของรัฐให้กับผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
กฎหมายว่าด้วยภาษี (กฎหมาย ว่าด้วยศุลกากร) กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองส่วยสาอากร และกฎหมายและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. นโยบายสำหรับผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า
    3.1 รัฐส่งเสริมให้บุคคล/นิติบุคคลภายในประเทศและต่างประเทศที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาสถานีบริการ ชาร์จรถไฟฟ้า ดังนี้
          - ยกเว้นหรือผ่อนผันภาษีศุลกากรการนำเข้าอุปกรณ์และระบบสถานีบริการชาร์จรถไฟฟ้า - กำหนดราคาไฟฟ้าสำหรับ
สถานีบริการชาร์จรถไฟฟ้าอย่างสมเหตุสมผล
          - อำนวยความสะดวกการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าแต่ละประเภทในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในเมือง ชุมชน และตามเส้นทางหลวง
แห่งชาติทั่วประเทศ
          - ผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันหันมาพัฒนาสถานีบริการชาร์จรถไฟฟ้า

    3.2 รัฐมีนโยบายด้านราคาไฟฟ้าสำหรับสถานีบริการชาร์จรถไฟฟ้า ดังนี้
          - ให้ผู้พัฒนาสถานีบริการชาร์จรถไฟฟ้ากำหนดแผนรายจ่ายที่เหมาะสม ประกอบด้วยค่าซ่อมบำรุงและค่าซ่อมแซมทางหลวง
(กองทุนทาง) กองทุนส่งเสริมและพัฒนาพลังงาน ต้นทุนและค่าบริการของผู้ประกอบการสำหรับกระแสสลับและกระแสตรง
ตามความเหมาะสม และภาษีมูลค่าเพิ่ม
          - ให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวกำหนดราคาไฟฟ้าที่สนองให้ผู้พัฒนาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าตามฤดูกาล กล่าวคือ ฤดูฝนราคาถูกกว่าฤดูแล้ง
     3.3 รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้บุคคล/นิติบุคคลสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนอะไหล่รถไฟฟ้า โดยผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องมีระบบบริหาร
จัดการเศษเหลือใช้จากการเปลี่ยนอุปกรณ์ของรถไฟฟ้าโดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ ให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้

4. นโยบายต่อผู้ใช้รถไฟฟ้า
    4.1 รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเป็นผู้บริการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับเครื่องชาร์จไฟฟ้า โดยไม่เก็บค่ามิเตอร์ไฟฟ้าตามที่พักอาศัย และสำนักงานต่าง ๆ
เพื่อความปลอดภัยทางด้านเทคนิค
    4.2 ชำระค่าธรรมเนียมการใช้ถนนประจำปีต่ำกว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างน้อยร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับรถที่มีความแรงเท่ากัน
    4.3 ให้ความสำคัญลำดับต้นสำหรับที่จอดรถไฟฟ้าตามจุด หรือสถานีบริการรถไฟฟ้าตามสถานที่สาธารณะ รัฐบาลเป็นผู้นำ
และต้นแบบของการใช้รถไฟฟ้า โดยเริ่มจากรถของรัฐและรถประจำตำแหน่งที่จะซื้อใหม่ จะจัดซื้อเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด
จากนั้นจะผลักดันให้รัฐวิสาหกิจและรถขนส่งสาธารณะหันมาใช้รถไฟฟ้า รวมทั้ง จะผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ
ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปหันมาใช้รถไฟฟ้าด้วย


ที่มา: นสพ. ประชาชน วันที่ 13 ต.ค. 2564 นสพ. Vientiane Times วันที่ 11 ต.ค. 2564 และ นสพ. เศรษฐกิจการค้า
วันที่ 11 ต.ค. 2564 และ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 13 ต.ค. 2564

10/20/2021



กลับหน้าหลัก