แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ปี 2564 - 2573 และแผนพัฒนาพลังงานและบ่อแร่ ฉบับที่ 9 (2564 - 2568) ของ สปป. ลาว

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 นายดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว ได้นำเสนอแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า
ปี 2564 - 2573 และแผนพัฒนาพลังงานและบ่อแร่ ฉบับที่ 9 (2564 - 2568) ของ สปป. ลาว ต่อที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2
ของสภาแห่งชาติชุดที่ 9 ดังนี้

ตั้งแต่ปี 2513 จนถึงปัจจุบัน การพัฒนาศักยภาพของแหล่งผลิตไฟฟ้าต่าง ๆ ของ สปป. ลาวมีการขยายตัวมากขึ้นเฉลี่ยประมาณ
ร้อยละ 17 ต่อปี ณ ปลายปี 2563 สปป. ลาวมีแหล่งผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 82 แห่ง รวมกำลัง การผลิตติดตั้ง 10,091 เมกะวัตต์ 
แบ่งออกเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำร้อยละ 80.41 และพลังความร้อนถ่านหิน ร้อยละ 18.61 สปป. ลาวส่งออกไฟฟ้า
ประมาณร้อยละ 72 ไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศมาจากแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ร้อยละ 91.49 พลังความร้อนถ่านหินร้อยละ 3.17 
และพลังงานชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 5.34 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ สปป. ลาวยังคงเผชิญกับ
ปัญหาและสิ่งท้าทายหลายประการ ซึ่งต้องมีมาตรการแก้ไขอย่างรัดกุมและเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาระบบไฟฟ้าภายในประเทศ
และระบบไฟฟ้าส่งออกโดยตรง ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

แผนพัฒนาพลังงานและบ่อแร่ฯ มุ่งพัฒนาภาคพลังงานและเหมืองแร่เป็นสำคัญให้สอดคล้องกับแนวโน้ม การพัฒนาของภูมิภาค
และนอกภูมิภาค และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างฐานรายได้ให้กับประเทศด้วยการเติบโต อย่างมีคุณภาพตามเป้าหมายการพัฒนา
ที่ยั่งยืนและสีเขียว โดยแผนดังกล่าวกำหนด 12 เป้าหมาย 85 งานสำคัญ และ 113 โครงการ ในการดำเนินการ และมีแผนความร่วมมือ
และการลงทุน เช่น การขอรับ ODA การลงทุน ของเอกชนภายในประเทศและต่างประเทศ การลงทุนของรัฐ ซึ่งจะเน้นการขยายระบบ
โครงข่ายไฟฟ้าไปยังเขตพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในแขวงไซสมบูน การขยายโครงข่ายในแขวงที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าต่ำที่สุด ได้แก่
แขวงหัวพัน พงสาลี และเซกอง และการขยายระบบโครงข่ายไฟฟ้าในเขตพื้นที่ห่างไกลในแขวงที่เห็นว่ามีความจำเป็น เพื่อให้
อัตราการเข้าถึงไฟฟ้าสามารถบรรลุร้อยละ 98 ภายในปี 2568

การพัฒนาพลังงานกำหนดให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าปี 2564 - 2573 ซึ่งประกอบด้วยการผลิตไฟฟ้าของโครงการ
ไฟฟ้าที่อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานและบ่อแร่ฯ ซึ่งคาดการณ์การผลิตอยู่ที่ 276,096 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง มูลค่า 140,879 พันล้านกีบ
เพิ่มขึ้นร้อยละ 79 เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าของแผนพลังงานและบ่อแร่ ฉบับที่ 8 (2559 - 2563) คาดการณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้า
ภายในประเทศช่วงปี 2564 – 2568 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ต่อปี โดยคาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 2,132 เมกะวัตต์
และสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2,880 เมกะวัตต์ และการขายไฟฟ้าภายในประเทศอยู่ที่ 28,624 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง มูลค่า 2,431 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านธรณีศาสตร์และเหมืองแร่ ปัจจุบัน สปป. ลาวมีพื้นที่สำหรับศึกษา สำรวจ และขุดค้นแร่ประมาณ 72,174.3 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 30.5
ของพื้นที่ทั้งประเทศ ประกอบด้วยพื้นที่ในการขุดค้นและแปรรูปประมาณร้อยละ 0.9 พื้นที่ศึกษาด้านเศรษฐกิจและเทคนิค ร้อยละ 0.7
และพื้นที่ขุดค้นและสำรวจร้อยละ 29 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 รัฐบาล สปป. ลาวได้ออกดำรัสเลขที่ 308/นย. ว่าด้วยการกำหนด
เขตสงวนแร่ธาตุ เพื่อกำหนด 12 เขตพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านแร่ธาตุให้เป็นเขตสงวนแร่ธาตุรวมทั้งหมด 28,268.59 ตารางกิโลเมตร
 คิดเป็นร้อยละ 12 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อรักษาและคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าว สร้างความสมดุลระหว่างการสงวนกับการใช้ประโยชน์
และพัฒนาภาคเหมืองแร่ตามแนวทางสีเขียวและยั่งยืน สำหรับมูลค่าการผลิตและจำหน่ายแร่ในช่วงปี 2564 – 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 
7,832 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับแผนพลังงานและบ่อแร่ ฉบับที่ 8 (2559 - 2563) (7,526 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 
คาดการณ์การจำหน่ายแร่อยู่ที่ 8,336 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับแผนพลังงานและบ่อแร่ ฉบับที่ 8 (8,092 
ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แบ่งเป็นการจำหน่ายภายในประเทศ 1,974 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับแผนพลังงานและบ่อแร่ 
ฉบับที่ 8 (1,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และการส่งออกไปต่างประเทศ 6,362 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับแผนพลังงาน
และบ่อแร่ ฉบับที่ 8 (6,663 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คาดการณ์รายได้เข้ารัฐ (ค่าสัมปทาน ค่าทรัพยากรธรรมชาติ ภาษี เงินปันผล และอื่น ๆ)
อยู่ที่ 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับแผนพลังงานและบ่อแร่ ฉบับที่ 8 (838.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ เพื่อบรรลุ
คาดการณ์ข้างต้นจะต้องส่งเสริมและผลักดันการก่อตั้งโรงงาน แปรรูปหรือหลอมแร่ เช่น ทอง ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก และเหล็ก 
ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจพัฒนาแร่ธาตุลาวได้ร่วมกับบริษัทต่างประเทศก่อตั้งโรงงานหลอมเหล็กกล้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าแขก 
แขวงคำม่วน บนพื้นที่ 123 เฮกตาร์ นอกจากนี้ รัฐบาล สปป. ลาวจะพยายามส่งออกแร่โปแตสมูลค่า 1,357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
โดยจะขนส่ง ทางรถไฟลาว - จีนเป็นหลัก

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 10,527 กีบ
ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. ประชาชน วันที่ 4 พ.ย. 2564
http://pasaxon.org.la/pasaxon-detail.php?p_id=7119&act=economic-detail

11/12/2021



กลับหน้าหลัก