ความแตกต่างระหว่างบริษัทลาวกับบริษัทต่างประเทศ

ในการประกอบธุรกิจใน สปป. ลาวนั้น นอกจากผู้ลงทุนจะต้องคำนึงถึงรูปแบบของวิสาหกิจที่เหมาะสม กับธุรกิจของตนแล้ว ผู้ลงทุนยังจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการประกอบธุรกิจดังกล่าวใน สปป. ลาว โดย เฉพาะข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ โดยคนต่างชาติ ซึ่งย่อมเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งต่อการ เลือกรูปแบบการลงทุน และความยากง่ายในการลงทุน

หลักที่ใช้จำแนกว่าวิสาหกิจใดเป็นบริษัทลาวหรือบริษัทต่างประเทศนั้น หากเป็นกรณีที่มีความชัดเจน เช่น ผู้ลงทุนในธุรกิจเป็นพลเมืองลาวทั้งหมด หรือเป็นวิสาหกิจที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ ย่อมแบ่งแยกได้ไม่ยาก แต่ หากเป็นกรณีที่มีผู้ลงทุนพลเมืองลาว และผู้ลงทุนต่างประเทศเข้าร่วมทุนกันนั้น อัตราส่วนของทุนที่ผู้ลงทุนต่าง ประเทศถือเพื่อใช้ในการพิจารณาจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่บังคับใช้ในแต่ละกรณี

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว การถือหุ้นโดยคนต่างชาติแม้แต่เพียงหุ้นเดียวก็ทำให้บริษัทนั้นได้รับการถือว่าเป็น บริษัทต่างชาติได้ อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกฎหมายเฉพาะเป็นกรณีๆ ไป อนึ่ง ตาม กฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นเพื่อประกอบกิจการใดๆ ใน สปป. ลาวนั้น กลับไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันระหว่างบริษัท สปป. ลาวกับบริษัทต่างประเทศแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้ในกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจจะไม่ได้มีข้อแตกต่างในด้านสิทธิประโยชน์ระหว่างบริษัท สปป.ลาวกับบริษัทต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันยังคงมีการสงวนอาชีพธุรกิจหลักบางประเภทที่อนุญาตให้เฉพาะ พลเมือง สปป. ลาวเท่านั้น อาทิเช่น ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจหนังสือพิมพ์ ธุรกิจการผลิตรายการทางวิทยุ เป็นต้น หรือ บางธุรกิจก็อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจได้โดยมีการกำหนดเงื่อนไข หรือข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นจาก การประกอบธุรกิจโดยพลเมือง สปป. ลาว อาทิ ธุรกิจค้าส่งที่มีการจำกัดประเภทของสินค้าที่สามารถนำมาค้าส่งได้ เช่นนี้ ซึ่งในกรณีนี้รัฐจะมีการออกกฎเกณฑ์กำกับเฉพาะในลักษณะแยกเป็นแต่ละประเภทธุรกิจไป ซึ่งผู้ลงทุนที่ สนใจสามารถศึกษาเฉพาะลักษณะธุรกิจของตน โดยในที่นี้จะกล่าวถึงธุรกิจการค้าเพื่อเป็นตัวอย่าง

ในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง หรือที่เรียกกันว่า “ธุรกิจการค้าขายยกและการค้าขายย่อย” ในภาษาลาว เป็นธุรกิจ หนึ่งที่รัฐบาล สปป. ลาวเห็นว่าเป็นอาชีพสำคัญของคนในประเทศ จึงต้องการสงวนไว้ให้สำหรับคนในประเทศ เท่านั้น จึงมีการออกข้อตกลงว่าด้วยธุรกิจการค้าขายยกและการค้าขายย่อยขึ้น และจำกัดให้เฉพาะพลเมือง สปป. ลาว เท่านั้นที่สามารถประกอบธุรกิจค้าปลีกได้ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขและ ข้อจำกัดในการประกอบ ธุรกิจค้าส่งโดยผู้ลงทุนต่างชาติ โดยให้ผู้ลงทุนต่างชาติที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจค้าส่งจำเป็นต้องเข้าร่วมทุนกับ ผู้ลงทุนพลเมือง สปป. ลาว ซึ่งผู้ลงทุนต่างชาติสามารถถือทุนตามสัดส่วนทุนที่ลงเพียงไม่เกินร้อยละ 49 ของทุน จดทะเบียนบริษัท และสามารถดำเนินกิจการขายส่งได้เฉพาะสินค้าบางประเภท โดยในปัจจุบันบริษัทที่มีผู้ลงทุน ต่างชาติร่วมทุนด้วยดังกล่าวสามารถประกอบธุรกิจขายส่งได้เฉพาะสินค้าประเภทสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ต่างๆ เท่านั้น

อนึ่ง ข้อห้ามและข้อจำกัดดังกล่าว ก็ใช่ว่าจะเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาด หากยังพอมีช่องทางสำหรับผู้ลงทุนที่ ประสงค์จะประกอบธุรกิจในบางประเภทได้ เช่น ในกรณีค้าปลีก ผู้ลงทุนต่างชาติยังสามารถดำเนินการจำหน่าย โดย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่าย หรือแฟรนไชส์ โดยเจ้าของร้านค้าตัวแทนจำหน่ายนี้จะต้อง เป็น พลเมือง สปป. ลาวและอาศัยอยู่ใน สปป.ลาว เป็นต้น

เห็นดังนี้ การเลือกสัญชาติของนิติบุคคลที่ใช้ประกอบธุรกิจก็ดูจะมีความสำคัญ และสามารถส่งผลกระทบ ต่อการดำเนินธุรกิจ และ ผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทได้ ผู้ลงทุนจึงควรมีความรอบคอบในการพิจารณาศึกษาราย ละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะในด้านเงื่อนไข ข้อจำกัด และสิทธิประโยชน์ ที่ตนอาจได้รับ หรือไม่ได้รับ เพื่อให้การประ กอบธุรกิจของตนใน สปป ลาวเป็นไปอย่างราบรื่น และได้รับประโยชน์สูงสุด

นอกเหนือจากรูปแบบการลงทุนและความแตกต่างระหว่างบริษัท สปป. ลาวกับบริษัทต่างชาติ ผู้ลงทุนยัง ควรคำนึงถึงผลประโยชน์อื่นที่อาจได้รับ ที่เกี่ยวกับพื้นที่ที่ผู้ลงทุนจะเข้าไปลงทุน หรือที่เรียกกันว่า “เขตส่งเสริม การลงทุน” ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในบทความฉบับต่อไป



กลับหน้าหลัก