ธุรกิจขนส่งสินค้าใน สปป. ลาว

ในปัจจุบันมีนักลงทุนชาวต่างประเทศจำนวนมากจากทั้งประเทศในประชาคมอาเซียนและจากภายนอกเข้าไปลงทุนใน สปป. ลาว ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมและเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองใน สปป. ลาว โดยการขนส่งสินค้าเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงภาคการผลิตและการบริโภคเข้าด้วยกัน ธุรกิจบริการ ขนส่งสินค้าจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักที่คอยหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของ สปป. ลาวให้มีการขับเคลื่อน

ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของ สปป. ลาว การคมนาคมขนส่งทางบกถือเป็นเส้นทางคมนาคมหลักเนื่องจาก สภาพภูมิประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบกคือ กฎหมายว่าด้วยการ ขนส่งทางบก เลขที่ 03-97/สพช ลงวันที่ 12 เมษายน 1997 (“กฎหมายการขนส่งทางบก”) ซึ่งบังคับใช้สำหรับการ ดำเนินวิสาหกิจการขนส่งสินค้า และผู้โดยสาร ใน สปป. ลาว ระหว่างประเทศ และผ่านแดนไปยังประเทศที่สาม โดยบทความนี้จะมุ่งเน้นเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าภายใน สปป. ลาว เป็นหลัก

การประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางบกใน สปป ลาว

นักลงทุนที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าภายในสปป. ลาว จะต้องดำเนินการขออนุญาตเพื่อ ประกอบวิสาหกิจการขนส่งต่อกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการ ขนส่งทางบกภายใน สปป ลาว เสียก่อน

สปป. ลาว เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าภายใน สปป. ลาวได้ โดยสามารถถือหุ้นทั้งหมดของกิจการได้ 100% และไม่จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติลาว ทั้งนี้ การลงทุนโดยผู้ลงทุนต่างประเทศดังกล่าว ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการ ลงทุน 2009 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสำหรับการลงทุนโดยผู้ลงทุนต่างประเทศ วิสาหกิจ ซึ่งประกอบกิจการขนส่งถือเป็นกิจการทั่วไปตามกฎหมายฉบับดังกล่าว และต้องมีทุนขั้นต่ำอย่างน้อย 1 พันล้านกีบ

บุคคลที่จะได้รับอนุญาตให้ตั้ง และขึ้นทะเบียนวิสาหกิจการขนส่งทางบกได้นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีความ สามารถทางด้านวิชาชีพการขนส่ง มีทุนทรัพย์ที่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ และมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพการ ขนส่งแล้วนั้น กระทรวงโยธาธิการและขนส่งยังกำหนดคุณสมบัติอื่นๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมสำหรับการขออนุญาต ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าภายในประเทศ ดังนี้

  1. ผู้บริหารของวิสาหกิจจะต้องมีประสบการณ์ในธุรกิจการขนส่งมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี
  2. บริษัทต้องมีบุคคลากรที่มีความรู้ด้านการขนส่งขั้นสูง ทั้งหมดร้อยละ 20 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และจะต้องมีพนักงานที่เป็นคน สปป ลาว และมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างน้อย 2 ปี
  3. มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 3 พันล้านกีบ 4. มีรถขนส่งสินค้า 20 คันขึ้นไป ที่มีมาตรฐานตามที่กำหนด
  4. หากมีการร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติลาว สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างนักลงทุนต่างชาติและ นักลงทุนสปป ลาวเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา

พาหนะและบุคคลากรในการประกอบกิจการขนส่งสินค้า

ภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าแล้ว สิ่งที่จะต้องพิจารณาในลำดับถัดมา ซึ่งเป็น ปัจจัยที่จำเป็นที่สุดในการประกอบกิจการขนส่ง นั่นก็คือพาหนะที่จะใช้ประกอบกิจการขนส่งสินค้า โดยรถยนต์ที่ จะสามารถนำมาใช้ในวิสาหกิจการขนส่งได้นั้น จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนดดังนี้

  1. รถยนต์ที่นำมาใช้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าต้องได้รับใบวิ่งรถ ซึ่งออกโดยกระทรวงโยธาธิการและ ขนส่ง
  2. รถยนต์จะต้องจดทะเบียนเป็นรถขนส่ง
  3. รถยนต์จะต้องขึ้นทะเบียนป้ายรถ
  4. เป็นรถยนต์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานการขนส่ง
  5. มีการทำประกันภัยที่เกี่ยวข้อง
  6. เสียค่าธรรมเนียมใช้ทางประจำปี และ
  7. ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว

นอกจากกฏหมายการขนส่งทางบกจะกำหนดเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ที่จะนำมาใช้ในการประกอบกิจการขนส่งแล้ว ผู้ขับรถยนต์ขนส่งต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. มีใบขับขี่
  2. มีสุขภาพสมบูรณ์
  3. ปฏิบัติตามกฏจราจรอย่างเคร่งครัด
  4. ขับรถยนต์ไม่เกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด
  5. ไม่ขับรถยนต์ขณะมึนเมา หรือเสพยาเสพติด
  6. ในการขนส่งสินค้าแต่ละครั้ง ผู้ขนส่งต้องนำใบนำส่งสินค้าตามแบบฟอร์มที่กระทรวงโยธาธิการและ ขนส่งกำหนดไปพร้อมกับรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งดังกล่าว

สัญญาขนส่งสินค้า

สำหรับสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างวิสาหกิจขนส่ง และเจ้าของสินค้า สามารถทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจา อย่างไรก็ตาม กรณีเจ้าของสินค้าเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับวิสาหกิจขนส่ง กฎหมายว่าด้วยข้อผูกพัน ในสัญญาและนอกสัญญากำหนดให้ต้องทำสัญญาขนส่งดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ กฎหมายการขนส่ง ทางบกได้กำหนดเนื้อหาหลักที่สัญญาขนส่งสินค้าต้องระบุไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งวิสาหกิจขนส่งต้องปฏิบัติตาม

ในการดำเนินวิสาหกิจการขนส่งสินค้า ผู้ขนส่งจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทดแทน ในกรณีที่สินค้าไม่ถึงที่ หมาย หรือถึงที่หมายไม่ทันตามกำหนดเวลา ทำให้เจ้าของสินค้าที่ว่าจ้างให้ขนส่งได้รับความเสียหาย รวมถึงกรณีที่ สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรือตกหล่น เสียหาย ซึ่งเกิดจากความผิดของผู้ขนส่งเอง ภายใต้กฎหมายการขนส่งทางบกนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า ใบทะเบียนวิสาหกิจการขนส่งเป็นใบอนุญาตที่ออกให้เป็นการเฉพาะตัวสำหรับผู้ประกอบกิจการ ขนส่งแต่ละราย ผู้ประกอบวิสาหกิจการขนส่งไม่สามารถให้ผู้อื่นใช้ใบทะเบียนของตน ให้ผู้อื่นเช่า หรือโอนให้ ผู้อื่นได้

หากนักลงทุนสนใจจะดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าใน สปป. ลาว นักลงทุนควรศึกษาและพิจารณากฎหมาย อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น กฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ทำการขนส่ง ในกรณีที่ สินค้าเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีกฎหมายควบคุมอยู่โดยเฉพาะ หรือต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการขนส่งได้ เช่น สินค้าที่เป็นวัตถุอันตราย เป็นต้น มิฉะนั้น นักลงทุนอาจฝ่าฝืนกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์



กลับหน้าหลัก