ธุรกิจที่สำคัญในพื้นที่

อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราใน สปป. ลาว และแนวโน้มการเติบโตของตลาดยางพารา

เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ศูนย์ BIC สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ได้จัดทำบทความเรื่อง “มันสำปะหลังและยางพารา
 พืชเศรษฐกิจใหม่ของ สปป. ลาว” ซึ่งมีโอกาสเติบโตใน สปป. ลาว ได้ด้วยดี บทความในฉบับนี้ จะขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ
อุตสาหกรรม แปรรูปยางพาราใน สปป. ลาว และแนวโน้มการเติบโตของตลาดยางพาราเพิ่มเติม เพื่อเจาะลึกถึงบทบาท
อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและโอกาสการเติบโตในระยะต่อไป

รัฐบาล สปป. ลาวให้ความสำคัญกับการผลิตเกษตรให้เป็นสินค้าตามเขตเพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
ในประเทศ จึงกำหนดให้ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชที่มีความสำคัญลำดับต้นของชาติไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนากสิกรรม
จนถึงปี 2568 และวิสัยทัศน์จนถึงปี 2573 เพื่อให้สามารถแข่งขัน และเป็นสินค้าส่งออกโดยเฉพาะยางพาราดิบและ
ยางพาราก้อนอัดไฮดรอลิค

สปป. ลาว ตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับหลายประเทศ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ค่าเช่าที่ดินราคาถูก
แหล่งพลังงานไฟฟ้ามีราคาถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งมีเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านรถไฟลาว-จีน ทำให้
สปป.ลาว เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเงื่อนไขเหมาะสมเป็นฐานผลิตสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปจากยางพาราของภูมิภาคในอนาคต

พื้นที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ใน สปป. ลาวอยู่ในเขตภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลางและภาคใต้ ตามลำดับ พันธุ์ยางพารา
ที่ปลูกใน สปป. ลาวแบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ยางจากมาเลเซีย RRIM-600 (ปลูกในภาคกลางและภาคใต้)
พันธุ์ยางจากไทย RRIT-251 และ GT-1 (ปลูกในภาคกลางและภาคใต้) พันธุ์ยางจากเวียดนาม 260 (ปลูกในภาคกลางและภาคใต้)
และพันธุ์ยางจากจีน 774 (ปลูกในภาคเหนือ) ตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญของ สปป. ลาว ได้แก่ เวียดนาม จีน และไทย
โดยที่ยางพาราสามารถแปรรูปเป็นสินค้าได้หลายรูปแบบ และเป็นที่ต้องการในตลาดระหว่างประเทศทำให้ยางพาราเป็นพืช
ที่ได้รับความนิยมและเป็นสินค้าส่งออกหลักของ สปป. ลาว

ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางพาราแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยางพาราส่วนต้น เป็นอุตสาหกรรมขั้นต้นเริ่มตั้งแต่
การปลูกยางพารา การกรีดยางพารา น้ำยางพาราสด ยางพาราก้อน ยางพาราถ้วย หรือยางพาราแผ่นดิบ (2) อุตสาหกรรม
ยางพาราส่วนกลาง ต่อยอดจากอุตสาหกรรมยางพาราส่วนต้น โดยรับซื้อวัตถุดิบยางพาราจากอุตสาหกรรมยางพาราขั้นต้นน้ำ
มาผลิตในโรงงานแปรรูป ยางพาราแผ่นรมควัน น้ำยางพาราข้น ยางพาราอัดแท่ง ยางพาราอัดก้อนสู่กระบวนการจำหน่าย
ให้กับผู้ซื้อโดยตรงและผู้ค้ายางพาราภายในและต่างประเทศ และ (3) อุตสาหกรรมยางพาราส่วนปลาย ต่อยอดจากอุตสาหกรรม
ส่วนกลาง โดยรับซื้อวัตถุดิบยางพาราที่แปรรูปจากอุตสาหกรรมขั้นกลางมาผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ
ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และอื่น ๆ เพื่อจัดจำหน่ายให้ผู้บริโภค

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราใน สปป. ลาวจัดอยู่ในระดับอุตสาหกรรมยางพาราส่วนกลาง ส่วนใหญ่ผลิตยางพารา
ในรูปแบบอัดแท่งหรือยางพาราอัดก้อน (Rubber Block) น้ำหนักประมาณ 32-35 กิโลกรัม ต่อก้อน โดยส่วนใหญ่มุ่งส่งออกไปจีน
เพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราส่วนปลาย อาทิ การผลิตอุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องใช้
ในครัวเรือน และอื่นๆ

สปป. ลาวมีโรงงานแปรรูปยางพาราทั้งหมด 69 แห่ง มีกำลังการผลิต 50 - 30,000 ตันต่อปี ประกอบด้วยโรงงานแปรรูปยางพารา
แผ่นและอัดก้อนที่กำลังดำเนินธุรกิจจำนวน 54 แห่ง โรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 15 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวจีน
เวียดนาม และมีการร่วมทุนระหว่าง สปป. ลาวกับต่างประเทศ การแปรรูปของโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราใน สปป. ลาว ส่วนใหญ่
แปรรูปยางพาราก้อนโดยเก็บซื้อก้อนยางถ้วยจากชาวสวนแล้วนำมาแปรรูปเป็นยางพาราอัดแท่งที่มีน้ำหนัก ขนาด และการห่อหุ้ม
ตามมาตรฐานโรงงานที่ตลาดต้องการเพื่อสะดวกในการขนส่ง และรักษาคุณภาพของยางพารา สำหรับโรงงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์
สำเร็จรูปจากยางพาราเพื่อใช้ภายในและส่งออกใน สปป. ลาวยังไม่มี

ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2565 สินค้าด้านการเกษตรถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ คิดเป็นร้อยละ 20
ของจำนวนสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ มันสำปะหลัง มูลค่า 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่งออกไปไทย เวียดนาม และจีนมากที่สุด กล้วย มูลค่า 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออกไปจีน ไทย และเวียดนามมากที่สุด
และยางพารามูลค่า 132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออกไปจีน เวียดนาม และมาเลเซียมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมห่วงโซ่
การผลิตในภูมิภาคของผู้ผลิตยางพาราใน สปป. ลาวยังไม่เป็นที่รับรู้เท่าที่ควรจากผู้ผลิตยางพาราในภูมิภาค ซึ่งมีประเทศที่มีชื่อ
เสียงด้านการผลิตยางพารา อาทิ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียเป็นหลัก การส่งออกยางพาราของลาวส่วนใหญ่เป็นการส่งออก
ในนามบริษัทต่างประเทศที่ได้โควตาจากรัฐบาลจีน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการจำหน่ายผ่านระบบการค้าชายแดนที่ไม่แสดงแหล่งผลิต
จาก สปป. ลาวเมื่อส่งไปถึงมือผู้ชื้อ

เมื่อพิจารณาปัจจัยข้างต้น จึงเป็นโอกาสดีหากไทยจะพัฒนาความร่วมมือกับ สปป. ลาว ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
จากยางพาราเพื่อใช้ภายในและส่งออก เนื่องจาก สปป. ลาว มีที่ดินและอากาศที่เหมาะสม ต่อเพาะปลูก และการก่อตั้งโรงงาน
ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติน้อย นอกจากนี้ สปป. ลาวยังได้รับสิทธิพิเศษ ทางศุลกากร และโควตาในการส่งออกสินค้าไปยัง
ประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่างไรก็ตาม สปป. ลาวยังมีความท้าทายเกี่ยวกับการแปรรูปยางพารา อาทิ แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูป
ยางพารายังต้องการพัฒนาทักษะฝีมือ ยังคงต้องพัฒนาฐานข้อมูลการเชื่อมโยงในการผลิตตั้งแต่ส่วนต้นจนถึงส่วนปลาย
รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพารา จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปยางพารา
ถือเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีศักยภาพสูงและน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้
ในการแปรรูปสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา

ข้อมูลอ้างอิง
ยุทธศาสตร์การพัฒนากสิกรรมจนถึงปี 2568 และวิสัยทัศจนถึงปี 2573
https://eriit.moic.gov.la/researcheriitlao/
https://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/display&id=2583
https://build.boi.go.th/download/article/article_20201027143905.pdf

11/18/2022



กลับหน้าหลัก