ธุรกิจที่สำคัญในพื้นที่

กฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์

การล่มสลายของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรป และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ สหรัฐอเมริกา ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นที่จับตามองของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ในช่วงปี ที่ผ่านมา ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้บทบาทของภูมิภาคแห่งนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เป็นอย่าง มากก็คือการ รวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(Asean Economics Community หรือ AEC) ซึ่งจะมีผล บังคับอย่างเป็น ทางการในปี พ.ศ. 2558 นักลงทุนต่างคาดการณ์กันว่า AEC จะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีการ ขยายตัวเป็นอย่างมาก และกลายเป็นตลาดลงทุนที่น่าจับตามองมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ จึงได้มีการตื่นตัว และ เตรียม ความพร้อมนานาประการเพื่อรองรับ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และการลงทุน ที่ได้เข้ามาและกำลังจะเข้ามาในอนาคต

สปป. ลาว ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน สปป. ลาวได้มีการพัฒนาในด้านสาธารณูปโภคและ ด้านเศรษฐกิจเป็นอย่าง มาก โครงการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมเหล่านี้ต่างต้องการเงินลงทุนมหาศาลซึ่งนำไปสู่การลงทุนในธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศสำหรับประเทศไทยนั้นก็ได้มีธนาคารพาณิชย์จำนวนหนึ่งเข้าไปลงทุนประกอบ ธุรกิจใน สปป.ลาว บ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องถือว่า การลงทุนในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังเป็นช่องทางที่น่า สนใจของนักลงทุนอยู่ บทความฉบับนี้มุ่งอธิบายหลักการและวิธีการเบื้องต้นในการขออนุญาต จัดตั้งธนาคาร พาณิชย์ใน สปป.ลาว เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ที่สนใจดำเนินธุรกิจดังกล่าว

ข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเปิดธนาคารพาณิชย์ใน สปป. ลาว

กฎหมายของ สปป. ลาว ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เปิดโอกาสในการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใน สปป. ลาว ได้ไม่ว่าผู้ลงทุนจะมีสัญชาติใด เพียงแค่ต้องดำเนินการในรูปบริษัทเท่านั้น (แต่ไม่รวมไปถึงกรณีของบริษัทจำกัด ผู้เดียว) ข้อที่น่าสังเกตคือ ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ที่ขอจัดตั้งคือ 300,000 ล้านกีบขึ้นไป

การยื่นคำขอจัดตั้งธนาคารพาณิชย์

การให้อนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใน สปป. ลาว นั้นเป็นอำนาจของธนาคารแห่ง สปป. ลาว ภายใต้ ระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ เมื่อมีการยื่นคำร้องขอจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารแห่ง สปป. ลาว จะต้องพิจารณาและแจ้งผลให้ผู้ร้องขอทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 90 วันนับแต่ วันที่ ยื่นคำขอ โดยการยื่นคำร้องขอจัดตั้งธนาคารพาณิชย์นั้น ผู้ร้องขอต้องยื่นเอกสารดังต่อไปนี้ประกอบด้วย

  1. แผนธุรกิจและโครงสร้างองค์กรของธนาคารพาณิชย์
  2. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและอัตราส่วนการถือหุ้น
  3. ใบรับรองฐานะทางการเงินและข้อมูลที่จำเป็นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่
  4. ใบรับรองคุณวุฒิ ประสบการณ์ และประวัติการทำงานของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ในระยะเวลา 5 ปีที่ ผ่านมา

หลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาต

ใบอนุญาตชั่วคราว

การพิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์นั้น ในชั้นแรกหากธนาคารแห่ง สปป. ลาว เห็นว่า ผู้ยื่นคำขอ มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กล่าวคือ

  1. แผนธุรกิจที่ยื่นมานั้นดี และสมเหตุสมผล
  2. มีอัตราส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นจริงและโปร่งใส
  3. มีผู้บริหารและ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้มีคุณวุฒิและประสบการณ์ในด้านการเงินการธนาคาร
  4. มีใบอนุญาตลงทุนของคณะกรรมการแผนการและการลงทุน
  5. มีเอกสารยืนยันว่ามีทุนจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด

ธนาคารแห่ง สปป. ลาว จะออก ‘ใบอนุญาตชั่วคราว’ ให้แก่ผู้ยื่นคำขอซึ่งใบอนุญาตชั่วคราว เพื่อนำไปใช้ใน การดำเนินการต่าง ๆ เช่น การขออนุญาตปลูกสร้างสำนักงาน หรือ การนำทุนเข้ามาใน สปป. ลาวเท่านั้น ไม่ได้มีผล เป็นการอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้ทันที

ใบอนุญาตถาวร

เมื่อได้รับใบอนุญาตชั่วคราวแล้วผู้ยื่นคำขอยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตาม ‘เงื่อนไขเพิ่มเติม’ ดังจะกล่าว ต่อไปนี้ให้สำเร็จภายใน 180 วันเพื่อให้ได้รับ ‘ใบอนุญาตถาวร’ กล่าวคือ

  1. ผู้ยื่นคำขอต้องจัดการให้มีสัญญาร่วมทุน(Shareholder agreement) กฎระเบียบ(Articles of association) และบทศึกษาแสดงถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจ(Feasibility study) ที่สมเหตุสมผล
  2. ผู้ยื่นคำขอต้องจัดการให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้นให้ครบตามจำนวน
  3. ผู้ยื่นคำขอต้องจัดการให้มีพนักงานที่ได้มาตรฐานในจำนวนที่เพียงพอต่อการบริการ
  4. ผู้ยื่นคำขอต้องจัดสถานที่ทำการและสิ่งอำนวยสะดวกอื่น ๆ ให้พร้อมต่อการเปิดบริการ
  5. ผู้ยื่นคำขอต้องจัดให้มีระบบดำเนินงาน ระบบตรวจสอบบัญชีภายในและระบบควบคุม การดำเนินงาน อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ

เมื่อผู้ยื่นคำขอได้ดำเนินการตามเงื่อนไขเพิ่มเติมสำเร็จทุกข้อภายในกำหนดเวลาแล้ว ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ก็จะพิจารณาออกใบอนุญาตถาวรให้ภายใน 10 วัน ในขณะเดียวกันหากไม่สามารถดำเนินตามเงื่อนไขเพิ่มเติม ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ใบอนุญาตชั่วคราวที่ออกให้ก็จะไม่มีผลบังคับใช้ในทันที อย่างไรก็ตาม กำหนดเวลา 180 วันนี้ อาจขยายเพิ่มไปได้อีก 90 วัน หากสามารถชี้แจงเหตุผลอันสมควรที่ไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารแห่ง สปป. ลาว

เมื่อผู้ยื่นคำขอได้รับใบอนุญาตถาวรผู้ยื่นคำขอต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด และต้องไปขึ้น ทะเบียนวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจ ทั้งยังต้องเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ถาวร มิฉะนั้นอาจจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้

จะเห็นได้ว่าการขอตั้งธนาคารใน สปป. ลาว สามารถกระทำได้ เพียงแต่ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ตามขั้น ตอนและในระยะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

11/12/2024



กลับหน้าหลัก