เกาะติดข่าว

แหล่งผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมแห่งแรกใน สปป. ลาว

นอกจากการส่งออกสินค้าด้านเกษตรและ อุตสาหกรรมแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออก เป็นรายได้หลัก
อีกแหล่งหนึ่งของ สปป. ลาว ซึ่งมีความโดดเด่นมากในภูมิภาค การผลิตไฟฟ้าของ สปป. ลาว มาจากพลังน้ำ ถ่านหิน
ชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยรัฐบาล สปป. ลาวยังคงส่งเสริมการสำรวจและจัดหาแหล่งผลิตพลังงานสะอาด
เพิ่มเติม โดยเฉพาะพลังงานลมเพื่อให้เกิดความหลากหลายด้านพลังงาน

โครงการไฟฟ้าพลังงานลม Monsoon (Monsoon Wind Farm) เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกของ สปป. ลาว
และจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังการผลิตติดตั้ง ตามสัญญาสัมปทาน
600 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการสูงกว่า 930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองดากจึง แขวงเซกอง และเมืองซานไซ
แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของ สปป. ลาว มีพื้นที่ 68,000 เฮกตาร์ (425,000 ไร่) โดยบริษัท Impact Energy Asia Development
จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการ และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลลาวเมื่อปี 2554 เพื่อศึกษาความเป็น
ไปได้ทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค และเริ่มติดตั้งเสาเพื่อตรวจวัดและเก็บข้อมูลลม 5 จุด เป็นระยะเวลาประมาณ 8 ปี
(2558-2566) และได้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐบาลลาว (Concession Agreement: CA) เพื่อให้ดำเนินการอย่างเป็นทางการ
เมื่อปี 2565 ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ไฟฟ้าพลังงานลม Monsoon จำกัด โครงการวางแผนผลิตและจำหน่าย
กระแสไฟฟ้าขนาด 500kv ให้การไฟฟ้าเวียดนาม ระยะเวลาก่อสร้าง 28 เดือน โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566

ทั้งนี้ บริษัท ไฟฟ้าพลังงานลม Monsoon จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่าง (1) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (ในกลุ่ม บางจาก)
ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 48 (2) บริษัท Impact Electrons Siam จำกัด ร้อยละ 17 (3) บริษัท STP&I จำกัด (มหาชน)
ร้อยละ 16 (4) บริษัท ACEN จำกัด ร้อยละ 7 (5) บริษัท Mitsubushi Corporation ร้อยละ 7 และ (6) บริษัท SMP
Consultation จำกัด ร้อยละ 5 โดยมุ่งเน้นการลงทุนในพลังงานสีเขียวและเป็นพลังงานทางเลือกสู่อนาคต และ
มีบริษัท PowerChina เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและใช้อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมของจีน

โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญของ สปป. ลาวที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้พลังงานลมในการผลิตไฟฟ้า
ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและเชื้อเพลิง
ประเภทอื่น ๆ ที่มีอยู่จำกัด นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนลง
อย่างน้อย 748,867 ตัน/ปี โครงการฯ จะสามารถเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2568 โครงการมีระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี
 บริษัท อินโนกรีน เอนจิเนียริ่ง จำกัด (สปป. ลาว) และ กรีนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด (ประเทศไทย) เป็นผู้ประเมิน
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยละเอียด รวมทั้งจัดทำแผนงานเพื่อตรวจสอบสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบโครงการ 
โครงการจะติดตั้งเสากังหันลมจำนวน 133 ต้น โดยเสากังหันลมมีความสูง 140 เมตร และ 110 เมตร ซึ่งความสูง
ของเสากังหันลมจะส่งผลให้กำลังการผลิตแตกต่างกัน

คาดว่าเมื่อโครงการนี้สำเร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ทั้งด้านการลงทุนจากต่างประเทศ และ
การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออก รวมทั้งช่วยส่งเสริมบทบาทสำคัญของ สปป. ลาว ที่สอดคล้องกับ
นโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ปัจจุบัน สปป. ลาวส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย เวียดนาม 
กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย และเมียนมา โดยระยะปี 2563-2573 สปป. ลาวได้คาดการณ์ว่า ปริมาณการส่งออก
พลังงานไฟฟ้า ไปยังประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ การส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยัง
ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกันจะใช้วิธีการส่งผ่านประเทศที่สองไปยังประเทศจุดหมาย อาทิ การส่งกระแสไฟฟ้า
จาก สปป. ลาว ไปยังสิงคโปร์ จะส่งผ่านไทย ทั้งนี้ การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านเป็นก้าว
สำคัญและมีความหมายต่อ สปป. ลาว เป็นอย่างมาก เนื่องจาก สปป. ลาวจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน
ที่ได้ริเริ่ม การส่งออกไฟฟ้าโดยผ่านประเทศที่สองไปยังประเทศที่สาม ทั้งนี้ ในปี 2565 การส่งออกพลังงานไฟฟ้า
ของ สปป. ลาว มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศที่ สปป. ลาว ส่งออกพลังงานไฟฟ้า
มากที่สุดคือ ไทย มีมูลค่ากว่า 2,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กัมพูชา 181 
ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ สิงคโปร์ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.mem.gov.la/?p=5939
https://www.laotradeportal.gov.la/index.php?r=site/display&id=1873
http://dimex.moic.gov.la/index.php/statistic/2018-10-29-04-44-23/62-2013-2019

05/08/2023



กลับหน้าหลัก