เกาะติดข่าว

แขวงจำปาสักเริ่มพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ หวังส่งเสริมการพัฒนาเพื่อรองรับการเชื่อมโยง


 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 รัฐบาล สปป. ลาว ได้อนุญาตให้นักธุรกิจเข้ามาพัฒนานิคมเศรษฐกิจ 2 แห่งในแขวงจำปาสัก ได้แก่

1) เขตนิคมอุตสาหกรรมปากเซ – ญี่ปุ่น SMEs แขวงจำปาสัก มีเนื้อที่ 195 เฮกตาร์ โดยมีการลงทุนในเบื้องต้นเพื่อการพัฒนาโครงการประมาณ 62 ล้านเหรียญสหรัฐ จุดประสงค์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากญี่ปุ่นให้เข้ามาดำเนินการผลิต ประกอบธุรกิจ และให้บริการต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าส่งออกและเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานแก่ประชาชนในท้องถิ่น ปัจจุบัน มีบริษัทจำนวน 6 บริษัทเริ่มเข้ามาลงทุนแล้ว

2) เขตนิคมอุตสาหกรรมจำปาสัก – ลาวบริการ มีเนื้อที่ 800 เฮกตาร์ ซึ่งอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยนายไซซะนะ สะหมิงวงสา ผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจำปาสัก – ลาวบริการ กล่าวว่า ปัจจุบัน ได้เริ่มมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอายุสัมปทาน 50 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในด้านการผลิต ธุรกิจ และการบริการต่าง ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานแก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 30 และคาดว่า จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2558 โดยได้มีการหารือเพื่อกำหนดนโยบายและรูปแบบการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยคาดว่าจะเป็นการลงทุนจากต่างชาติมากกว่าการลงทุนจากภายในประเทศ

นอกจากนั้น สปป. ลาว กำลังมีการศึกษาและสำรวจแนวทางการพัฒนาเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่
เขตเศรษฐกิจพิเศษภูเพียงบอละเวน มีเนื้อที่ 6,500 เฮกตาร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสีพันดอน
(คอนพะเพ็ง) และเขตเศรษฐกิจเฉพาะด่านสากลวังเต่า ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติ ปัจจุบัน มีหลายบริษัทแสดงความสนใจและได้แสดงความจำนงในการเข้ามาลงทุนแล้ว

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2554 – 2558) เขตเศรษฐกิจพิเศษในแขวงจำปาสักมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ
10.9 ต่อปี เฉลี่ยรายรับ 16 ล้านกีบ (64,000 บาท) ต่อคนต่อปี โดยภายในปี 2563 แผนพัฒนาเศรษฐกิจ – สังคมของแขวงจำปาสักได้มีการตั้งเป้าหมายให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี และเพิ่มยอดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเป็น 5 เท่าภายในปี 2573 นอกจากนี้ ยังได้มีความพยายามทำให้เมือง
ปากเซเป็นศูนย์กลางทั้งในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม – วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว และมีแผนที่จะพัฒนาเมืองปากซอง เมืองจำปาสัก และเมืองโขง ในลำดับต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์ เศรษฐกิจการค้า (Lao Economic Daily)
ฉบับที่ 682 วันอังคารที่ 22 กันยายน 2558

11/02/2015



กลับหน้าหลัก