เกาะติดข่าว

สรุปความคืบหน้าการก่อสร้างเส้นทางรถไฟลาว - จีน

♦ บริษัทจากจีนร่วมลงนามในโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน ♦

บริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้ง 5 บริษัท และบริษัทที่ปรึกษา 6 บริษัทของจีนได้รับเลือกให้ร่วม โครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน ซึ่งจะเริ่มการก่อสร้างในเดือน ธันวาคม 2559 โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559 ได้มีการลงนามข้อตกลงกับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยมี ดร. บุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง นายกวน หัวบิง เอกอัครราชทูตจีนประจำ สปป. ลาว รวมทั้งรองรัฐมนตรี เจ้าแขวง และผู้เข้าร่วมงานเป็นสักขีพยาน นอกจากนี้ บริษัทรับเหมาก่อสร้างจีนจะจ้างช่วงบริษัทลาวจำนวน 20 บริษัท เพื่อก่อสร้างทางรถไฟ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทจีน

โครงการก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าวมีมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะทางกว่า 427 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 รางรถไฟมีขนาด 1.435 เมตร ตามมาตรฐานรางรถไฟ มีสถานีทั้งหมด 33 สถานี / 72 อุโมงค์ (ความยาวรวม 183.9 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 43 ของเส้นทางทั้งหมด) / 170 สะพาน (ความยาว 69.2 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 15.8 ของเส้นทางทั้งหมด) รถไฟขนส่งผู้โดยสารจะวิ่งด้วยความเร็ว 160 กม. ต่อชั่วโมง ในขณะที่ รถไฟขนส่งสินค้าจะวิ่งด้วยความเร็ว 120 กม. ต่อชั่วโมง

ทั้งนี้เส้นทางรถไฟใน สปป. ลาว จะเชื่อมต่อไปยังประเทศไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟที่เชื่อมตลอดภูมิภาคหรือที่เรียกว่า ทางรถไฟคุนหมิง - สิงคโปร์ ครอบคุมระยะทางทั้งหมดประมาณ 3,000 กิโลเมตร พิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอย่างเป็นทางการมีขึ้นที่เวียงจันทน์เมื่อเดือน ธันวาคม 2558 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี การสถาปนา สปป. ลาว โครงการรถไฟลาว – จีน สอดคล้องกับข้อริเริ่ม One Belt, One Road ของนายสี จิ้นผิง ปธน. จีน โดยจะส่งผลให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างจีนและ สปป. ลาว รวมทั้ง อาเซียนและจีนให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น รัฐบาล สปป. ลาว ได้เน้นความสำคัญของโครงการการก่อสร้างทางรถรถไฟ โดยเห็นว่า จะเปลี่ยน สปป. ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land locked) ให้เป็นประเทศผู้เชื่อม (Land linked) และดึงดูดการลงทุนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมายัง สปป. ลาว ให้มากขึ้น นอกจากนี้ รถไฟยังจะ ช่วยเพิ่มการผลิตทั้งเพื่อการส่งออกและเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

♦ ผู้รับผิดชอบโครงการ ฯ เร่งแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ♦

นายจันทะจอน แก้วละคอน ผู้ประสานงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน ประจำแขวงหลวงน้ำทา ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาเทือ บ้านบ่อเต็น และบ้านทินสาน โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้เลือกเขตที่อยู่ใหม่ด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน ผู้รับผิดชอบโครงการได้จัดเก็บข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อประเมินราคาชดเชยตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินดีให้ความร่วมมือ หากผู้รับผิดชอบโครงการมีการจัดสรรที่อยู่อาศัยแห่งใหม่และได้รับค่าชดเชยตามความเหมาะสม ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้รับ ผลกระทบจากโครงการก่อสร้างได้สนับสนุนการก่อสร้างทางรถไฟ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

แขวงหลวงน้ำทาเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟลาว - จีน โดยมีระยะทางทั้งหมด 16.9 กม. จากชายแดนจีนไปสิ้นสุดที่ชายแดนแขวงอุดมไซ ทั้งนี้ ผู้รับผิดชอบโครงการมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ ผู้ได้รับผลกระทบให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้

♦ รอการเก็บกู้ระเบิดที่ตกค้างในสมัยสงคราม ♦

การก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน ในแขวงหลวงน้ำทายังไม่ได้เริ่มการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ตกค้าง ในสมัยสงคราม ซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนที่การก่อสร้างทางรถไฟจะดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ

กระทรวงป้องกันประเทศได้รายงานต่อเจ้าแขวงหลวงน้ำทาว่า 1 ใน 3 หมู่บ้านของเมืองนาหม้อ ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟต้อง แล่นผ่านยังไม่ได้มีการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ตกค้างในสมัยสงคราม นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 หมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ก่อสร้าง คือ บ้านบ่อเต็น บ้านทินสานและบ้านนาเทือ มีพื้นที่ที่มีระเบิดตกค้างประมาณ 16.9 กิโลเมตร บริษัทก่อสร้างจีนได้ปักหมุดก่อสร้างทางรถไฟในแขวฃหลวงน้ำทาไปแล้วร้อยละ 70 ก่อนที่โครงการจะถูกระงับเพื่อทำการเก็บกู้วัตถุระเบิด โดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่งได้มีคำสั่งให้เก็บกู้วัตถุระเบิดตามเส้นทางที่ทางรถไฟจะแล่นผ่าน นอกจากนี้ผู้ประสานงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟได้ดำเนินการเจรจาต่อรองและ ให้ค่าชดเชยแก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม

♦ บ้านพักคนงานก่อสร้างทางรถไฟใช้ปูนซีเมนต์จากโรงงานในเมืองวังเวียง ♦

บริษัท ปูนซีเมนต์ลาว จำกัด ได้เริ่มหาวัสดุก่อสร้างบ้านพักคนงานก่อสร้างทางรถไฟในแขวงเวียงจันทน์ โดยปัจจุบัน บริษัทมีศักยภาพในการผลิตปูนซีเมนต์ประมาณ 230,000 ตันต่อปี และกระบวนการผลิตได้มาตรฐานจากสหรัฐอเมริกาและจีน ขณะเดียวกัน โรงงานปูนซีเมนต์ที่เมืองวังเวียงได้เพิ่มการผลิตเพื่อส่งออกซีเมนต์ ที่มีคุณภาพ ซึ่งคาดว่า จะได้รับการสั่งซื้อจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟ โดยปริมาณซีเมนต์ที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นจาก 1,200 ตัน เป็น 4,900 ตัน และได้นำเทคโนโลยีการผลิตล่าสุดจากจีนมาใช้ควบคุมคุณภาพของปูนให้เพียงพอกับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่

ปัจจุบัน สปป. ลาวมีโรงงานปูนซีเมนต์ 15 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงงานปูนซีเมนต์ใน เมืองวังเวียงเป็นโรงงานใหม่แห่งที่ 3 และมีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ทั้งนี้ แขวงหลวงน้ำทาและแขวงอุดมไซได้ปักหมุดแล้วบางส่วนเพื่อกำหนดเส้นทางเดินรถไฟ ขณะที่แขวงเวียงจันทน์อยู่ระหว่างการก่อสร้างบ้านพักคนงานที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคน คาดว่าโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะสร้างจากชายแดนเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาไปยังแขวงเวียงจันทน์ โดยจีนได้ถือหุ้นเป็นเจ้าของโครงการนี้ ร้อยละ 70 ขณะที่ สปป. ลาวถือหุ้นเพียงร้อยละ 30

ในส่วนของการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของระยะทางรถไฟ 427 กิโลเมตร ซึ่งเดินรถจากชายแดนจีนไปยังแขวงเวียงจันทน์ผ่าน 4 แขวงของ สปป. ลาว ได้แก่ แขวงหลวงน้ำทา อุดมไซ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์

♦ แขวงหลวงพระบางรับจัดหาเสบียงอาหารให้โครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน ♦

แขวงหลวงพระบางเป็นแขวงหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่โครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน มีระยะทาง 80 กิโลเมตร ผ่านเมืองจอมเพ็ด เมืองเชียงเงิน และเมืองหลวงพระบาง โดยการก่อสร้างครั้งนี้จะมีแรงงานจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีความต้องการเสบียงอาหารเพิ่มขึ้น

แผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวง หลวงพระบางได้ร่วมมือกับแผนกเกษตรและป่าไม้แขวงหลวงพระบาง ส่งเสริมให้ ประชาชนทำการเกษตรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเสบียงอาหารให้แก่โครงการก่อสร้างทางรถไฟที่อยู่ในแขวงหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบางมีฟาร์มเลี้ยงปลา 11 ฟาร์ม สามารถตอบสนองความต้องการตลาดได้ 120 - 150 ตันต่อปี และไก่พันธุ์ไข่ 12 ฟาร์ม สามารถผลิตไข่ไก่ได้วันละ 90,000 ฟอง รวมทั้งมีฟาร์มสุกร 13 ฟาร์ม ปริมาณการผลิตเนื้อสุกรได้ 47,000 ตันต่อปี ปริมาณการผลิตผักได้วันละ 15 ตัน นอกจากนี้ ยังมีเนื้อวัว ควาย แพะ และอื่น ๆ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการบริโภคภายในแขวงหลวงพระบางได้อย่างเพียงพอและส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีผลผลิตที่สามารถตอบสนองการบริโภคได้ แต่ก็ยังต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไก่ หัวผักกาด พริก มะเขือเทศ กระเทียม ผัก และอื่น ๆ เนื่องจาก ประชาชนไม่ได้ผลิตสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม มีบริษัทอีก 3 บริษัทประสงค์จะจัดหาเสบียงอาหารให้โครงการการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน เช่นกัน แต่แผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวงหลวงพระบางและแผนกเกษตรและป่าไม้แขวงหลวงพระบางจะให้สิทธิแก่ ประชาชนที่ได้รับการส่งเสริมให้ทำการเกษตรเพื่อตอบสนองการผลิตเสบียงอาหารให้โครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน ก่อน หากการผลิตไม่เพียงพอ ต่อความต้องการ จึงจะให้มีการนำเข้าเสบียงอาหารจากบริษัทอื่น ทั้งนี้ เพื่อให้ ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด

♦ ชาวบ้านหลายรายยังไม่ทราบว่ารถไฟความเร็วสูงจะสร้างใน สปป. ลาว ♦

ชาวบ้านหลายรายที่อาศัยอยู่บริเวณแขวงหลวงน้ำทาจนถึงแขวงเวียงจันทน์จำนวนมากยังไม่ทราบว่าจะมีการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากชายแดนลาว - จีน ขณะที่คนงานแคมป์ก่อสร้างทางรถไฟได้ทำการปักหมุดก่อสร้างทางรถไฟที่จะสร้างผ่านเมืองทั้ง 4 ของแขวงหลวงน้ำทาแล้ว โดยชาวบ้านจำนวน 40 รายที่อาศัยอยู่ในแขวง อุดมไซและ 3 เมืองของแขวงหลวงน้ำทา คือ เมืองไซ เมืองงา และเมืองน่าม่อ จะได้รับการชดเชยจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟนี้โดยการตั้งถิ่นฐานใหม่

ทั้งนี้ นายพอนประดิด พมมะจิด ผู้ประสานงานการก่อสร้างทางรถไฟในแขวงอุดมไซ กล่าวว่า การก่อสร้างทางรถไฟได้คืบหน้าไปกว่า 126 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังปักหมุดก่อสร้างทางรถไฟ และเป็นคนกลางในการชดเชยให้แก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ยังไม่ทราบรายละเอียดความต้องการแรงงานในการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน

ดร. คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ให้สัมภาษณ์กับ หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ ว่า กระทรวงแรงงานฯ ยังไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับจำนวนแรงงานและทักษะแรงงานที่ต้องการในการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน โดยได้เน้นย้ำให้มีการประสานงานอย่างเร่งด่วน เพื่อจะได้ทำการฝึกอบรมทักษะแรงงานที่จำเป็น สำหรับการก่อสร้างในครั้งนี้ ในส่วนของการทางรถไฟได้มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวเป็นครั้งคราว โดยพบว่ายังไม่ได้มีการจัดหาแรงงานที่ต้องการ เนื่องจากยังไม่ทราบรายละเอียดความต้องการด้านทักษะแรงงาน

ขณะที่คณะรัฐมนตรีและเจ้าแขวงได้เข้าร่วมการประชุมที่นครหลวงเวียงจันทน์เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน นับเป็นประเด็นแรกของการอภิปรายในแผนการก่อสร้างทางรถไฟ โดยช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวถูกนำเสนอหลายครั้ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ สาระสำคัญคือ แรงงานลาวยังขาดทักษะด้านฝีมือแรงงาน โดย ประชาชนใน สปป. ลาว มีความกังวลว่า แม้จะมีข้อมูลความต้องการแรงงานก่อสร้างทางรถไฟมากกว่า 50,000 คน แต่คงจะไม่สามารถสร้างงานให้กับประชาชนลาวได้เท่าที่ควร รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯ เห็นว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟควรสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ตลอดจนต้องหารือในประเด็นแรงงานร่วมกันเพื่อไม่ให้แรงงานต่างชาติได้รับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียวและควรมีการฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานลาวที่มีฝีมือให้ทันเวลาการก่อสร้างทางรถไฟ

ดร. บุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง แจ้งว่า คณะกรรมการประสานงานได้เตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับการรับสมัครแรงงานและสัญญาว่าจ้างคนท้องถิ่นเข้าเป็นแรงงานในโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน แล้ว แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสสหพันธ์กรรมกรลาวได้แสดงความกังวลว่า แรงงานท้องถิ่นอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันทักษะแรงงาน เนื่องจากแรงงานลาวไม่มีทักษะในการก่อสร้างทางรถไฟมาก่อนและไม่มีหลักสูตรฝึกอบรมด้านการก่อสร้างใน สปป. ลาว ดังนั้น อาจมีแรงงานต่างชาติจำนวนมากได้รับการว่าจ้างงานในโครงการดังกล่าว ซึ่งแนวโน้มตัวเลขแรงงานต่างชาติน่าจะเกินจำนวนที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2556 สภาแห่งชาติได้มีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน โดยสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้ร้อยละ 15 ของแรงงานทั้งหมดและจ้างแรงงานต่างชาติที่มีทักษะฝีมือได้ร้อยละ 25

♦ อะไรคือโอกาสในการได้งานของแรงงาน ตามแผนการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน ♦

นางดวงใจ แรงงานที่ทำงานในเมืองสีสัดตะนาก นครหลวงเวียงจันทน์ ให้ความเห็นว่า

ครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีนเป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นไปได้ว่าโครงการนี้จะสร้างงานให้แก่ประชาชนใน สปป. ลาว จำนวนมาก เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นเรื่องดีสักเท่าไร หากรายละเอียดเกี่ยวกับความต้องการแรงงานยังไม่ชัดเจนในขณะที่โครงการดำเนินต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบรายละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนในท้องถิ่นว่าจะได้รับการจ้างงานในโครงการนี้ อีกทั้งบริษัทที่ดำเนินงานควรพิจารณาปัญหานี้และยอมรับแรงงานท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ตนคิดว่า ยังมีแรงงานลาวจำนวนมากที่มีประสบการณ์และทักษะด้านการก่อสร้าง ซึ่งพวกเขาต่างก็มีเทคนิคและสามารถดำเนินการก่อสร้างที่นำสมัย เนื่องจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สปป. ลาว มีการพัฒนาที่รวดเร็ว”


นางซายสี ชาวแขวงอุดมไซ ได้ให้ความเห็นว่า

“บริษัททั้งหลายที่ทำงานในโครงการนี้ควรจะจ้างแรงงานท้องถิ่น เพราะโครงการมีขนาดใหญ่และคนลาวจำนวนมากต้องการทำงาน เป็นเรื่องจริงที่ว่าแรงงานลาวขาดทักษะการก่อสร้างทางรถไฟ อย่างไรก็ตาม บริษัทควรฝึกอบรมให้พวกเขา ถ้าบริษัทไม่ให้โอกาส พวกเขาจะยังคงไร้ฝีมือและไม่สามารถทำงานในโครงการนี้ได้ในอนาคต ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการผูกขาดตลาดแรงงาน หนึ่งในนโยบายที่จะ สนับสนุนให้บริษัทต่างชาติจ้างแรงงานท้องถิ่นสำหรับโครงการภายในประเทศ คือ การจัดฝึกอบรมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แก่แรงงาน”


นายแอน้อย วันวงคำ เมืองจันทะบุลี นครหลวงเวียงจันทน์ กล่าวว่า
“มี ประชาชนจำนวนมากที่รอทำงานในโครงการนี้ โดยหวังว่าจะได้รับการว่าจ้างทำงานในโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน พวกเขาคงจะผิดหวังหากบริษัทไม่จ้างงานมากเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ สิ่งที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า คนท้องถิ่นจะถูกจ้างงานนั้น รัฐบาลควรต่อรองกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับแรงงานท้องถิ่น อีกทั้งรัฐบาลควรกำหนดให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างช่วยฝึกอบรมแรงงานที่ไร้ฝีมือ โดยแต่ละบริษัทควรมีส่วนร่วมในการสร้างทรัพยากรมนุษย์สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าแรงงานลาวจำนวนมากจะถูกจ้างงานในโครงการนี้”

นางสุกกี้ สีลุนเฮือง เมืองไซเสดถา นครหลวงเวียงจันทน์ ได้ให้ความเห็นว่า

“ผู้คนพูดถึงปัญหานี้และกังวลต่อสถานการณ์แรงงาน จะเป็นเรื่องที่ดีหากบริษัทรับเหมาก่อสร้างจ้างแรงงานท้องถิ่น เพราะจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ที่รถไฟแล่นผ่าน ไม่เพียงแต่โครงการนี้เท่านั้น แต่ทุกโครงการใน สปป. ลาว ควรจัดลำดับความสำคัญในเรื่องของการจ้างแรงงานท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การยกระดับทักษะของแรงงาน หากบริษัทต้องการแรงงานที่มีทักษะหรือช่างเทคนิค ก็ควรจัดฝึกอบรมให้แก่คนในท้องถิ่น ส่วนค่าใช้จ่ายภายในโครงการนั้นควรมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนท้องถิ่นได้รับการจ้างงานและได้รับการฝึกอบรมให้เป็นช่างเทคนิค ซึ่งบริษัทท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาต้องมีส่วนสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการก่อสร้างในอนาคต หากแรงงานท้องถิ่นมีคุณภาพย่อมจะทำให้พวกเขาได้รับการจ้างงานมากขึ้น”


เจ้าหน้าที่กรมจัดการแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม แสดงความคิดเห็นว่า
“ภายใต้กฎหมายของทุกโครงการใน สปป. ลาว จะต้องมีการจ้างแรงงานท้องถิ่น ซึ่งจะมีจำนวนแรงงานที่ต้องการแตกต่างกันไปตามแต่ละโครงการ แน่นอนว่าโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน จะต้องมีการว่าจ้างแรงงานท้องถิ่น เนื่องจากการจ้างแรงงานท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่สนับสนุนและคุ้มครองแรงงาน สปป. ลาว หากแรงงานท้องถิ่นถูกว่าจ้าง พวกเขาก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ จะมีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และได้รับการจ้างงานมากขึ้นในอนาคต กรมจัดการแรงงานมีหน้าที่คุ้มครองแรงงานภายในประเทศ โดยแรงงานทุกคนที่ทำงานกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน จะได้รับการคุ้มครองในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรักษา ความปลอดภัย เงินทุน สวัสดิการ การดูแลสุขภาพ และอื่น ๆ "

♦ เดินหน้าก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน อย่างเป็นทางการ ♦

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2559 ได้มีพิธีเปิดโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน อย่างเป็นทางการ ณ จุดก่อสร้างบ้านพอนไซ แขวงหลวงพระบาง นับเป็นเวลา 1 ปี หลังจากที่ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 โดย 6 บริษัทจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างใน 6 ส่วน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดประกอบด้วย นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด คณะกรรมการกลางศูนย์กลางพรรคและที่ปรึกษาพรรคประชาชนปฏิวัติลาว นายกวน หัวบิ่ง เอกอัครราชทูตจีนประจำสปป. ลาว และเจ้าหน้าที่จากจีน และ สปป. ลาว

ทางการ สปป. ลาว ได้เปิดเผยข้อมูลศึกษาก่อนหน้าที่จะตกลงก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีนว่า ได้ประมาณจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางภายในประเทศโดยรถไฟลาว - จีน ว่าจะสูงถึง 3.98 ล้านคนต่อปี หากเปิดการเดินรถไฟแล้วคาดว่า ตัวเลขผู้โดยสารในระยะแรกจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.11 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.62 ล้านคน ในระยะยาว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังชายแดนจีนคาดว่า ประมาณ 161,850 กีบ (700 บาท) ซึ่งถูกกว่ารถโดยสารสาธารณะที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 285,000 กีบ (1,240 บาท) การใช้รถไฟขนส่งสินค้าจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังชายแดนจีนคาดว่า จะมีค่าใช้จ่ายเพียง 269,750 กีบ (1,170 บาท) ต่อตัน ซึ่งถูกกว่าขนส่งสินค้าทางถนนที่มีค่าใช้จ่าย 833,340 กีบ (3,620 บาท) ต่อตัน

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าเมื่อเส้นทางรถไฟในภูมิภาคเสร็จสมบูรณ์จะทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะจำนวนผู้โดยสารที่โดยสารรถไฟใน 5 ประเทศที่รถไฟแล่นผ่าน ได้แก่ จีน สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าตัวเลขเริ่มต้นของผู้โดยสารจะถึง 9.65 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.98 ล้านคนในระยะแรก และจะเพิ่มเป็น 16.5 ล้านคนในปีต่อมา ขณะที่การขนส่งสินค้าโดยรถไฟระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งมีปริมาณการขนส่งสินค้า 2.59 ล้านตันต่อปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.62 ล้านตันในระยะแรกและ 5.46 ล้านตันในระยะยาว

ที่มา :
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times, ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2559
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times, ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2559
หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า, ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2559
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times, ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม 2559
หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า, ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม 2559
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times, ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม 2559
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times, ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2559
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times, ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม 2559

ที่มารูปภาพ :
http://www.thaitribune.org/contents/detail/296?content_id=16256
http://news.xinhuanet.com/english/2016-10/25/c_135779056.htm
http://en.people.cn/n/2015/0910/c90000-8948298.html
http://www.straitstimes.com/asia/east-asia/chinas-dream-of-rail-link-to-s-e-asia-coming-true
http://www.thaitribune.org/contents/detail/296?content_id=16256

01/04/2017



กลับหน้าหลัก