เกาะติดข่าว

ธนาคารโลกประเมินความสะดวกในการประกอบธุรกิจใน สปป. ลาว ประจำปี 2562

ธนาคารโลกประเมินความสะดวกในการประกอบธุรกิจใน สปป. ลาว ลดลงจากลำดับ 141 ในปี 2561 มาอยู่ที่ลำดับ 154 ในปี 2562 จากจำนวน
190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติลาว ระบุว่า ส่วนสำคัญที่ทำให้ผลการประเมินลดลงคือ การให้บริการและ
การประสานงานของแต่ละกระทรวงไม่มีเอกภาพ หากไม่เร่งแก้ไขอาจทำให้นักธุรกิจตัดสินใจไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีนโยบาย
ส่งเสริมการลงทุนที่ดีกว่า 

รัฐบาล สปป. ลาว เคยตั้งเป้าหมายให้ สปป. ลาว เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ในลำดับเลขสองหลักให้ได้ภายในปี 2561 
ตามตัวชี้วัดของธนาคารโลก และที่ผ่านมาได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีเลขที่ 02/นย. ลงวันที่ 1 ก.พ. 2561 เน้นการอำนวยความสะดวก
การดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความสะดวก มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน และช่วยดึงดูดนักลงทุน
จากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้ได้มากที่สุดตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา 

นางวาลี เวดสะพง รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว กล่าวว่า สปป. ลาว เคยมีสถิติประเทศที่มีความสะดวก
ในการประกอบธุรกิจลำดับดีที่สุดในลำดับ 139 โดยส่วนตัวคิดว่า การปรับลดลำดับ ในการประเมินครั้งนี้อาจจะไม่มีผลกระทบต่อ
การดำเนินธุรกิจใน สปป. ลาว เพราะการประเมินอ้างอิงตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2560 ซึ่งมีผลในปี 2561 ดังนั้น การออกคำสั่งเลขที่ 02/นย. 
ของนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจในอนาคต
มีความสะดวก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานตามคำสั่งดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาล สปป. ลาว จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา
หนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในอัตราค่อนข้างเสี่ยง และรัฐบาลควรจะเจรจาสัญญาด้านราคาหรือขยายสัญญาเพิ่มเติมกับโครงการใหญ่ๆ ที่รัฐบาล
ได้อนุมัติแล้ว อาทิ โครงการก่อสร้างเขื่อน และโครงการสายนำส่งกระแสไฟฟ้าที่มีมูลค่าลงทุนสูง เพื่อช่วยลดอัตราการเก็บค่าไฟฟ้า
ให้แก่โรงพยาบาลและภาคเกษตรกรรม หากสามารถดำเนินการได้จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศคล่องตัวมากขึ้น 

ดร. ลีเบอร์ ลีบัวปาว รองหัวหน้าสถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติลาว กล่าวว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรี เลขที่ 02/นย. มีความละเอียด ชัดเจน 
โปร่งใส และจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว โดยเฉพาะ การดำเนินการผ่านระบบประตูเดียว แต่ในความเป็นจริงการดำเนินธุรกิจ
ใน สปป. ลาว ไม่มีความคล่องตัวเท่าที่ควร เนื่องจากการดำเนินธุรกิจบางอย่างมีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง จึงทำให้การดำเนินการ
มีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ ดร.ลีเบอร์ฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาล สปป. ลาว ต้องการให้การประเมิน
ความสะดวกในการประกอบธุรกิจใน สปป. ลาว ลดลงเหลือลำดับเลขสองหลักในปี 2563 รัฐบาลจะต้องปฏิรูประบบประตูเดียว
ให้มีความชัดเจน มีการติดตามและประเมินผลขั้นตอนการดำเนินการด้านเอกสาร ในแต่ละกระทรวงอย่างเข้มงวด เพื่ออำนวยความสะดวก
ให้แก่นักธุรกิจ 

ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 
เข้าถึงได้จาก https://laoedaily.com.la/39312/?fbclid=IwAR1O7MbrloNdmXGQ59-Mh9ZozsiC50htezhr9oinFlmpshP_bpXYhmevK_I

12/07/2018



กลับหน้าหลัก