เกาะติดข่าว

การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สปป. ลาว

5 ปีที่ผ่านมารัฐบาล สปป. ลาว กำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษกลายเป็นส่วนสำคัญด้านเศรษฐกิจเคียงคู่กับการส่งออก
และการสร้างอาชีพ ปัจจุบัน มีผู้เข้ามาลงทุนเกือบ 600 บริษัท และสามารถส่งออกสินค้าได้ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่รัฐบาลยอมรับว่า 
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจยังมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีบางเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาช้ากว่ากำหนด 

นายคำเลียน พนเสนา รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุนแห่ง สปป. ลาว คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน กล่าวว่า 
ปัจจุบัน มีบริษัทเข้ามาลงทุนและจดทะเบียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งหมด 593 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทภายในประเทศ 89 บริษัท 
บริษัทต่างประเทศ 474 บริษัท และเป็นบริษัทในประเทศร่วมทุนกับต่างประเทศ 29 บริษัท 

เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ 147 บริษัท เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม
128 บริษัท เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน - เซโน 117 บริษัท เขตพัฒนาเศรษฐกิจไซเสดถา 48 บริษัท เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์ - 
โนนทอง 47 บริษัท และเขตเศรษฐกิจปากเซ - ญี่ปุ่น 33 บริษัท และเขตเศรษฐกิจอื่นๆ 70 กว่าบริษัท  

ในปี 2561 เขตเศรษฐกิจพิเศษนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร และอุปกรณ์เพื่อมาใช้ในการผลิตและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีมูลค่าสูง
ถึงกว่า 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่นำเข้าสิ่งของดังกล่าวมากที่สุดได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน - เซโน รองลงมาคือ 
เขตพัฒนาเศรษฐกิจไซเสดถา และเขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์ – โนนทอง ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการส่งออกยังต่ำกว่าการมูลค่านำเข้า
อยู่ที่ 249 ล้านกว่าดอลลาร์สหรัฐ เขตที่ส่งออกได้มากที่สุดได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน - เซโน เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์ - 
โนนทอง เขตพัฒนาเศรษฐกิจไซเสดถา และเขตเศรษฐกิจพิเศษปากเซ - ญี่ปุ่น  

สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์แว่นตา กล้องถ่ายรูป เครื่องนุ่งห่ม และของเล่นสำหรับเด็ก ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ามูลค่า
การส่งออกจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้า แต่ก็สามารถสนับสนุนงบประมาณให้รัฐบาลได้ถึง 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า
ปี 2560 ถึง 3 เท่า โดยปัจจุบันมีแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 8,105 คน ประกอบด้วยแรงงานในประเทศ 1,299 คน และ
แรงงานต่างประเทศ 6,806 คน 

ตามรายงานของกระทรวงแผนการและการลงทุนแห่ง สปป. ลาว รายงานบทสรุปประจำปี ระบุว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นับแต่ปี 2557 
พบว่า บางเขตเศรษฐกิจพิเศษยังพัฒนาไม่ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งรัฐบาลจะมีการทบทวนสัญญาอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับหลายเขต
เศรษฐกิจพิเศษ นักลงทุนยังรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลในการแก้ไขสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การผลิตไฟฟ้า น้ำประปา 
เนื่องจากว่าบางเขตเศรษฐกิจพิเศษยังมีไฟฟ้าหรือน้ำประปาไม่เพียงพอเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า 

ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า, วันที่ 23 มกราคม 2562 
เข้าถึงได้จาก https://laoedaily.com.la/43648/

01/28/2019



กลับหน้าหลัก