เกาะติดข่าว

อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. - พ.ค. 2563

ศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อลาวเดือน เม.ย. 2563 ลดลงมาอยู่ที่
ร้อยละ 5.84 (เดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ร้อยละ 6.14) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.43 จากเดือน มี.ค. 2563
เนื่องจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.23 สุขภาพและยาเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 1.05 และสินค้าและบริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 อย่างไรก็ตาม บางหมวดสินค้า ปรับตัวลดลง เช่น ไปรษณีย์
และโทรคมนาคมลดลงร้อยละ 6.35 การศึกษาลดลงร้อยละ 1.72 ร้านอาหารและโรงแรม ลดลงร้อยละ 1.52 ที่พักอาศัย
ไฟฟ้า น้ำประปา และเชื้อเพลิงหุงต้มลดลงร้อยละ 1.45 และคมนาคมและขนส่งลดลง ร้อยละ 1.23

ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าบางประเภทปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ (1) การผลิตสินค้าและการให้บริการในช่วงการแพร่ระบาด
ของโรคโควิด 19 ลดลง ในขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นและมีความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร 
และ (2) ผลกระทบจากภัยแล้ง น้ำท่วม และโรคระบาดในสัตว์ ส่งผลให้การผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัว และปัจจัยที่ทำให้
ราคาสินค้าบางประเภทลดลง เช่น (1) ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง และ (2) ธุรกิจการบริการมีแนวโน้มลดลง
เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ในเดือน พ.ค. 2563 อัตราเงินเฟ้อลาวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.46 แต่เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน สปป. ลาว
ยังคงมีอัตราเงินเฟ้อในระดับที่สูง ขณะที่ CPI เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.21 จากเดือน เม.ย. 2563 เนื่องจากราคาสินค้า
และบริการบางหมวดที่สำคัญยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ที่พักอาศัย ไฟฟ้า น้ำประปา และเชื้อเพลิงหุงต้มเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 0.93 เนื่องจากการปรับราคาค่าไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.63 อาหารและเครื่องดื่มที่
ไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เนื่องจากราคาข้าวสาร ผักสด และเครื่องปรุงอาหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม 
บางหมวดสินค้า ปรับตัวลดลง เช่น คมนาคมและขนส่งลดลงร้อยละ 0.88 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัว
ลดลงร้อยละ 9.22 ปัจจัยที่ทำให้สินค้าบางประเภทยังคงปรับตัวสูงขึ้นในเดือน พ.ค. 2563 ได้แก่ (1) ความต้องการ
สินค้าอุปโภค บริโภค และต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ (2) เงินกีบอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินตราต่างประเทศ 
และราคาทองคำ ปรับตัวสูงขึ้น และ (3) ราคาวัตถุดิบการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ พันธุ์พืช สัตว์ 
ยาป้องกันโรค และอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศ

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 8 และ 11 มิ.ย. 2563

06/18/2020



กลับหน้าหลัก