เกาะติดข่าว

พิธีวางศิลาฤกษ์และลงนามสัมปทานโครงการพัฒนาท่าบก – ท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 นางคำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว กับนายจันทอน สิดทิไซ
ประธานบริษัท Vientiane Logistics Park จำกัด ร่วมลงนามสัญญาสัมปทานและวางศิลาฤกษ์โครงการพัฒนาท่าบก – ท่านาแล้ง
และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ดร. บุนจัน สินนะวง
รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป. ลาว นายพูขง บันนะวง รองเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ศ.ดร. อ๊อด พงสะหวัน 
ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กลุ่มบริษัทพงสะหวัน เป็นสักขีพยาน และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของ สปป. ลาว และเป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญลำดับต้น ในการพัฒนา
โลจิสติกส์แห่งชาติ ปี 2559 - 2573 และยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงภายในและนอก อนุภูมิภาค โดยมี
บริษัท สิดทิโลจิสติกส์ลาว จำกัดเป็นผู้ศึกษาและสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนพัฒนาโครงการดังกล่าว โดยได้ลงนาม MoU 
โครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2562 หลังจากการศึกษาและสำรวจความเป็นไปได้ ด้านเศรษฐกิจและการประเมินผลกระทบ
ต่อสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ บริษัทฯ ได้จัดการประชุมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 รัฐบาล สปป. ลาวไ
ด้รับรองรายงานผลการศึกษาของโครงการฯ และเห็นชอบให้จัดตั้งบริษัท Vientiane Logistics Park จำกัด เป็นบริษัทดำเนิน
โครงการฯ ในรูปแบบ BOT (Built and Transfer) มีอายุสัมปทาน 50 ปี

นายจันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัท Vientiane Logistics Park จำกัด กล่าวว่า โครงการฯ เป็นการพัฒนา เขตโลจิสติกส์ครบวงจร
ของนครหลวงเวียงจันทน์เพียงแห่งเดียวที่รวมเอา 2 องค์ประกอบหลักมาไว้ในจุดเดียวกัน เพื่อรองรับการเชื่อมโยงภายในและ
ภายนอกอนุภูมิภาคและทำให้การค้าและการขนส่งเกิดประโยชน์สูงสุด โดยท่าบก – ท่านาแล้ง

1. เป็นส่วนหนึ่งของเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์ที่กำหนดไว้ใน Intergovernmental Agreement on Dry Port
เป็นสถานีขนส่งหลายรูปแบบระดับสากลแห่งแรกของ สปป. ลาวที่สามารถให้บริการท่าเรือบกแบบครบวงจร เน้นการอำนวย
ความสะดวกทางการค้าและลดต้นทุนการขนส่งด้วยการเป็นต้นทางและปลายทางในการขนส่งตู้สินค้า พร้อมให้บริการ
Less Than Container Load - LCL (บริการสินค้าปริมาณน้อย ไม่เต็มตู้) รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายสินค้า
และด่านสากลสำหรับการขนส่งสินค้าเข้า – ออกและผ่านแดน โดยมีระบบคลังศุลกากรประเภทต่าง ๆ เต็มรูปแบบ

2. เป็นเขตโลจิสติกส์ที่ได้จัดสรรพื้นที่เฉพาะสำหรับกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น พื้นที่ให้บริการศูนย์โลจิสติกส์
ซึ่งผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์สามารถกระจายสินค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ พื้นที่ปลอดภาษี
สำหรับการผลิต แปรรูป ประกอบชิ้นส่วน เก็บรักษาเพื่อรอการนำเข้า – ส่งออก รวมทั้งเป็นศูนย์ส่งเสริมการค้าสากล
พื้นที่จัดเก็บสินค้าประเภทของเหลว (Tank Farm) พื้นที่ศูนย์ส่งเสริมการค้าสากล ห้องเย็นสำหรับสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ 
ผลไม้ และผัก และศูนย์บริการส่งออกของ SMEs

โครงการฯ ตั้งอยู่ที่บ้านดงโพสี เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ บนเนื้อที่ทั้งหมด 200 เฮกตาร์ ในเบื้องต้น มีมูลค่า
การลงทุนประมาณ 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การยกระดับ การสร้าง Dry Port
เช่น การสร้างลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ ห้องเย็น คลังสินค้า ถนน และสิ่งอำนวยความสะดวก ภายใต้งบประมาณประมาณ
150 – 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการพร้อมกับการเปิดใช้เส้นทางรถไฟลาว – จีน
สำหรับระยะที่ 2 และ 3 จะขยายแผนโลจิสติกส์ตามแผนงานของโครงการฯ และคาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายใน 5 – 10 ปี
สำหรับการลงทุนคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 15 ปี อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญของโครงการฯ คือ การปรับปรุง
ระบบโลจิสติกส์ของ สปป. ลาวที่เป็นหัวใจสำคัญของการเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งที่สมบูรณ์แบบ
เนื่องจากสปป. ลาวไม่มีทางออกสู่ทะเล

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 7 ก.ค. 2563
https://laoedaily.com.la/2020/07/06/79801/

07/17/2020



กลับหน้าหลัก