เกาะติดข่าว

การพัฒนาด้านคมนาคมของ สปป. ลาวในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2518 (วันสถาปนา สปป. ลาว) เป็นต้นมา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ได้รับการพัฒนา
ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์ และก่อสร้าง (ปัจจุบันกระทรวง
โยธาธิการและขนส่ง) ปัจจุบันมีถนนที่ตัดเข้าถึงทุกเมืองและแขวงทั่วประเทศ และมีก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงแห่งชาติ
เช่น ถนนหมายเลข 13 เหนือ และ 13 ใต้ ที่เป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมโยงภาคเหนือไปยังภาคใต้ของ สปป. ลาว ซึ่งช่วยอำนวย
ความสะดวกการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว และการสัญจรภายใน สปป. ลาวและเชื่อมโยงไปยังประเทศใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันโครงข่ายเส้นทางของ สปป. ลาว มีระยะทางทั้งสิ้น 58,255 กม. ประกอบด้วยทางลาดยางใน 148 เมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 687
หรือประมาณ 50,855 กม. เมื่อเทียบกับปี 2518 ที่มีเส้นทางทั้งหมด 7,400 กม. มีสะพานทั้งหมด 2,819 แห่ง ประกอบด้วย
สะพานคอนกรีต 1,113 แห่ง และที่เหลือเป็นสะพานเหล็กและไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 443 หรือประมาณ 2,300 แห่ง เมื่อเทียบกับ
ปี 2529 ซึ่งมีสะพานเพียง 519 แห่ง โดยสะพานที่สำคัญ ได้แก่ สะพานสีทอง สะพานยูริกาการิน (สะพานปากกะดิง)
สะพานน้ำเทิน สะพานเซโดนที่ปากเซ สะพานท่าง่อน สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์)
สะพานข้ามแม่น้ำโขงปากเซ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) สะพานมิตรภาพไทย – ลาว
แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) และสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 (เชียงราย – บ่อแก้ว) นอกจากนี้ ยังมีสะพานที่สำคัญ
หลายแห่งตามถนนหมายเลข 13 2 4 7 8 9 12 15 และ 18B

งานซ่อมแซมและบำรุงรักษาเป็นอีกงานที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ สปป. ลาวได้ก่อตั้งกองทุนบูรณะรักษาทางหลวง
เมื่อปี 2544 ซึ่งสามารถสนับสนุนทุนในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมถนน ทำให้การคมนาคมขนส่งทั่วประเทศเป็นไป
อย่างคล่องตัว นอกจากนี้ ยังได้มีการจ้างงานประชาชนให้เข้ามาถางหญ้าและทำความสะอาด ร่องน้ำ ซึ่งสร้างงาน
และรายได้ให้แก่ประชาชนและช่วยขจัดความยากจนด้วย

ในอนาคต สปป. ลาวมีแผนจะพัฒนา สปป. ลาวให้เป็นประเทศเชื่อมต่อและเชื่อมโยงไปยังอนุภูมิภาค รวมยกระดับมาตรฐาน
เทคนิคสะพานและถนนให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 
ตามการพัฒนาระบบเส้นทางแบบ 3911 ประกอบด้วยเส้นทางแนวตั้ง 3 เส้น เส้นทางแนวนอน 9 เส้น และเส้นทางเชื่อมต่อ 11 เส้น
ปรับปรุงและยกระดับทางหลวงแห่งชาติที่เป็นทางผ่านและเชื่อมต่อกับอนุภูมิภาค ผลักดันการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว 
แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) และแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) สะพานข้ามแม่น้ำโขง (เลย – เมืองซะนะคาม แขวงเวียงจันทน์) 
สะพานข้ามแม่น้ำโขงหลวงพระบาง – จอมเพ็ด สะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่างเกาะกับเกาะ (สี่พันดอน) 4 แห่ง และสะพานเล็ก 44 แห่ง
ในแขวงจำปาสัก และสะพานตามทางหลวงแห่งชาติอีกจำนวนหนึ่ง ก่อสร้างและรักษาทางหลวงแห่งชาติ ให้สามารถสัญจรไปมาได้สะดวก
ตลอดปีอย่างน้อยร้อยละ 60 ของเส้นทางทั้งหมด ปรับปรุงและซ่อมแซมถนนหมายเลข 13 เหนือและ 13 ใต้ ก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทน์ – บ่อเต็น
ระยะที่ 2 (วังเวียง – หลวงพระบาง) ระยะที่ 3 (หลวงพระบาง – อุดมไซ) และระยะที่ 4 (อุดมไซ – บ่อเต็น) และทางด่วนนครหลวงเวียงจันทน์ – ปากเซ
ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาชนบท ระยะที่ 2 (KFW) และซ่อมบำรุงสะพานและถนน สร้างเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อภายในประเทศที่มีความสำคัญ
และใช้จุดพิเศษทางภูมิประเทศของ สปป. ลาวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. ประชาชน วันที่ 26 พ.ย. 2563
http://www.pasaxon.org.la/pasaxon-detail.php?p_id=2619&act=investment-detail

12/04/2020



กลับหน้าหลัก