เกาะติดข่าว

สปป. ลาวมีแผนจะส่งออกทุเรียนไปจีน

ปัจจุบันรัฐบาล สปป. ลาวให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ ให้ประชาชนและประเทศชาติ
นางกิ่งแก้ว จันทะลังสี ผู้อำนวยการบริษัท บอลิคำไซ การฟาร์มพัฒนา ส่งเสริม กสิกรรม จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีสินค้า
ต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาใน สปป. ลาวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันค่อนข้างสูง ตนจึงตัดสินใจทำธุรกิจผลิตสินค้าเกษตร
ตามแนวทางการส่งเสริมของพรรค และรัฐบาล สปป. ลาว เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 ของช่วงเดียวกัน
ของปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และในอนาคตคาดว่า สปป. ลาวและเวียดนามจะส่งออกทุเรียน
ไปต่างประเทศเช่นกัน โดยมีจีนเป็นตลาดใหญ่ ที่สุดในโลกรองรับ สาเหตุที่ทำให้การส่งออกทุเรียนของ สปป. ลาวเติบโต
เนื่องจาก สปป. ลาวมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ โดยได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศนั้น ๆ จาก 16 ประเทศ
เช่น จีน อิตาลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย

ในช่วงเริ่มต้นบริษัทฯ ได้ลงทุนปลูกกล้วยบนเนื้อที่ประมาณ 300 เฮกตาร์ ในแขวงบอลิคำไซ เพื่อส่งออก ไปจีน ซึ่งได้รับผลตอบรับ
ที่น่าพอใจ แต่ในปี 2562 ราคากล้วยในตลาดมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 จึงหันมาปลูกทุเรียน
และขนุนแทน เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการค่อนข้างสูง และให้รายได้มั่นคงแม้ว่าจะใช้เวลาปลูกหลายปีก็ตาม โดยใช้พื้นที่เดิม
ที่ใช้ปลูกกล้วยมาปลูกทุเรียน และขนุนแทน และจะขอสัมปทานที่ดินจากรัฐเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เองก็มีตลาดจีนรองรับแล้ว 
สำหรับพันธุ์ทุเรียนและขนุนที่ใช้ปลูกจะนำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้ปลูกไปแล้วบางส่วน คาดว่าจะสามารถส่งออกทุเรียนได้ในปี 2567
ซึ่งตามหลักวิชาการแล้วการปลูกทุเรียนจะใช้เวลาอย่างน้อย 4 – 5 ปี และขนุนจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต
 ปัจจุบันบริษัทฯ ได้สร้างงานให้หลายร้อยคนทั้งที่อยู่ในสวนกล้วย สวนทุเรียนและขนุน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ก่อตั้งโรงเรียนประถมศึกษา 
และก่อสร้างทางเข้าหมู่บ้านอีกด้วย

ที่มา: นสพ. ประเทศลาว วันที่ 16 ธ.ค. 2563

ข้อมูลเพิ่มเติม
สถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียน ที่สำคัญ และในปี 2563 
คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยนอกจากการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางแล้ว ไทยยังมีช่องทางการ
จำหน่ายในรูปแบบ E-commerce ซึ่งช่วยให้มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน สปป. ลาวยังคง
ใช้ช่องทางการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง เพียงอย่างเดียว และผลผลิตที่ได้ยังนับว่าเป็นสินค้าใหม่ในมุมมองของผู้บริโภค 
เมื่อเทียบกับความนิยมในการบริโภคและความเชื่อมั่นในผลไม้ไทย

01/06/2021



กลับหน้าหลัก