เกาะติดข่าว

GDP ในปี 2021 จะอยู่ในระดับร้อยละ 4 - 4.5

ปี 2564 เป็นปีเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนงบประมาณแห่งรัฐ 5 ปี ครั้งที่ 9 (2564 -2568)
ของ สปป. ลาวซึ่งปัจจุบัน สปป. ลาว ยังอยู่ในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจและการเงินยังมีความยุ่งยากหลายประการ เนื่องจาก
ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ดังนั้น การคาดการณ์แผนรายรับงบประมาณแห่งรัฐ
ประจำปี 2564 จึงเป็นแผนที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ที่ไม่จำเป็น เพื่อรักษาสภาพการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน
ร้อยละ 3 ของ GDP โดยการคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจมหภาคในปี 2564 ตามการคาดคะเนเบื้องต้นของกระทรวงแผนการ
และการลงทุน ดังนี้

1. GDP สปป.ลาวจะขยายตัวในระดับร้อยละ 4 - 4.5 มูลค่าประมาณ 19,732 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบ
เทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าไม่เกินร้อยละ 5 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 5 – 7 เงินสำรองระหว่างประเทศ
ครอบคลุมการนำเข้ามากกว่า 3 เดือน และการกำหนดโควตาข้าราชการใหม่ประจำปี 2564 จำนวน 1,600 คน
โดยคงอัตราเงินเดือนพื้นฐานไว้ในระดับเดิม

2. การจัดเก็บรายได้ทั้งหมด คาดการณ์ไว้ที่ 2,949 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อเทียบกับปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.09
(หรือเท่ากับร้อยละ 14.95 ของมูลค่า GDP) ประกอบด้วยรายได้ภายในประเทศ 2,687 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อเทียบกับ
ปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.99 (หรือเท่ากับร้อยละ 13.62 ของมูลค่า GDP) โดยแบ่งออกเป็นรายได้จากภาษีและส่วยสาอากร
2,166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.66 และรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีและ ส่วยสาอากร 521.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.10

3. ด้านรายจ่ายกำหนดไว้ไม่เกิน 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 17.23 ของมูลค่า GDP (ลดลง 169.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเทียบกับปี 2563) แบ่งออกเป็นรายจ่ายภายในประเทศ 2,708 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมเงินลงทุนต่างประเทศ) โดยเป็นรายจ่าย
บริหารปกติ 2,287 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 29.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับแผนปรับแก้ปี 2563) และรายจ่ายการ
ลงทุนทั้งหมด 1,113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งออกเป็นรายจ่ายการลงทุนในต่างประเทศ 692.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และรายจ่ายการลงทุนภายในประเทศ 421.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เฉพาะเงินลงทุนปกติ 216.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

4. ด้านการขาดดุลงบประมาณ คาดว่าจะขาดดุลงบประมาณ 451 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 2.29 ของมูลค่า GDP 
ซึ่งเป็นไปตามกรอบวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการคลังที่รัฐบาล สปป. ลาว รับรอง

5. ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน จะดำเนินการแก้ไขความยุ่งยากด้านหนี้สินอย่างเข้มงวด เพื่อทำให้จำนวนและความกดดัน
ของหนี้สินลดลง โดยการหาแหล่งทุนภายในประเทศ เช่น จากทรัพย์สินและหุ้นของรัฐบาล การเปลี่ยนหนี้เป็นทุน 
การให้สัมปทานและอื่น ๆ รวมทั้งการบริหารและชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยให้ครบถ้วน ตามกำหนดเวลา

ที่มา: นสพ. เวียงจันทน์ใหม่ วันที่ 4 ม.ค. 2564

01/15/2021



กลับหน้าหลัก