เกาะติดข่าว

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 – 2568) ของ สปป. ลาว

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 นายทองลุน สีสุลิด กรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคและนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว
รายงานต่อที่ประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศ ครั้งที่ 11 ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
แห่งชาติแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 - 2568) ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ของแผนฯ ได้แก่
     1.1 พัฒนา สปป. ลาวให้หลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ประชาชนมีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สานต่อการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนา อย่างยั่งยืนปี 2573 และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
ตามแนวทางการพัฒนาสีเขียวแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ
     1.2 แก้ไขจุดอ่อน ข้อคงค้าง อุปสรรคในการพัฒนาที่ผ่านมา และสิ่งท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ผลกระทบจากโรคโควิด 19 
การเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน ฟ้า และอากาศ สงครามการค้า และความ ไม่แน่นอนในและนอกภูมิภาค
     1.3 ส่งเสริมปัจจัยและศักยภาพที่มีอยู่ของชาติ โดยการใช้เทคโนโลยี การสื่อสาร และข้อมูลข่าวสาร (ICT) ที่เหมาะสม 
เพื่อทำให้ภาคการผลิตและการบริการเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต สร้างความเข้มแข็ง และการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ

2. ทิศทางและการดำเนินงาน ได้แก่
    2.1 ส่งเสริมปัจจัยที่จะนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมือง ความสงบเรียบร้อยในสังคม ความสามัคคี ปรองดอง ประชาธิปไตย
ความยุติธรรม และความเจริญรุ่งเรือง
    2.2 สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่และ ในแต่ละหน่วยงาน แก้ไขปัญหา
ด้านการคลังและการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
    2.3 พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ 
เพื่อเป็นปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาชนบท และการแก้ไขความยากจนของประชาชน
    2.4 พัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปกปักรักษาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพสูงสุด
    2.5 ยกระดับการบริหารจัดการและบริหารรัฐไปสู่ความทันสมัย มีความกะทัดรัด โปร่งใส รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
และสามารถรับใช้ประชาชนได้อย่างแท้จริง 2.6 เพิ่มทวีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนมิตรและคู่ร่วมพัฒนาในหลายรูปแบบ
บนหลักผลประโยชน์ ร่วมกัน การเชื่อมโยงกับภูมิภาคและสากลอย่างกว้างขวาง

3. เป้าหมายและแนวทางของแผนฯ มี 6 เป้าหมายหลัก ดังนี้
     3.1 เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ มั่นคง และยั่งยืน
     3.2 ทรัพยากรมนุษย์มีคุณภาพมากขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนา มีความสามารถค้นคว้าและใช้วิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการผลิตและการบริการ
     3.3 ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น
     3.4 ปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุล และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่าง ๆ
     3.5 โครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนา โดยใช้ศักยภาพและโอกาสเชิงพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือ และความเชื่อมโยง
กับประเทศในและนอกภูมิภาค
     3.6 การบริหารจัดการภาครัฐมีประสิทธิภาพ สังคมมีความเสมอภาค ยุติธรรม และอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย

การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคภายใต้แผนฯ จะเน้นการปฏิรูปการบริหารจัดการด้านการคลังอย่าง เป็นระบบและต่อเนื่อง
การขยายฐานรายได้ทางภาษีเพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้มากขึ้น การบริหารจัดการรายจ่ายภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
และรัดกุม การบริหารจัดการหนี้สินและหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่สามารถ ชำระได้ และการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน 
โดยกำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจให้ GDP ขยายตัวเฉลี่ย อย่างน้อยร้อยละ 4 ต่อปี มูลค่า GDP รวม 5 ปี อยู่ที่ 114,295 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่า GDP ต่อหัวในปี 2568 อยู่ที่ 2,887 ดอลลาร์สหรัฐ ด้านรายได้ของรัฐ กำหนดอยู่ที่ 18,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 15.3 
ของ GDP ด้านรายจ่ายกำหนดให้ไม่เกิน 20,531 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 17.2 ของ GDP และการขาดดุลงบประมาณ
ทั้งหมด 2,269 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 2 ของ GDP นอกจากนี้ ได้กำหนดให้เป้าหมายการระดมการลงทุนทั้งหมด
อยู่ที่ 22,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 19.6 ของ GDP โดยแบ่งออกเป็นการลงทุนจากงบประมาณภายในประเทศ
ร้อยละ 10 – 11 ODA ร้อยละ 11.7 การลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 48.4 และการลงทุนอื่น ๆ ร้อยละ 24.1

นอกจากนี้ นายทองลุนฯ ได้เสนอ 7 ประเด็นที่รัฐควรให้ความสำคัญในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ดังนี้

1. การแก้ไขความยากจนของประชาชนเพื่อลดความแตกต่างทางสังคม และการเข้าถึงบริการสาธารณะ ในพื้นที่ห่างไกล
โดยเฉพาะการศึกษาและสาธารณสุข
2. การแก้ไขความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เช่น การพึ่งพาการขุดค้นและใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งยังขาดประสิทธิภาพ
คุณภาพการเติบโตยังต่ำ ไม่สามารถกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และฐานการผลิตยังไม่เข้มแข็ง
3. การแก้ไขความเปราะบางทางการคลังหนี้สาธารณะ การจัดเก็บรายได้ไม่ครบถ้วนและการรั่วไหล ของงบประมาณ งบประมาณ
ไม่เพียงพอต่อความจำเป็นในการพัฒนาเนื่องจากมุ่งเน้นเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
4. การแก้ไขความเปราะบางด้านการเงิน โดยเห็นว่าถึงแม้จะเกินดุลการค้าแต่ดุลการชำระกับต่างประเทศ (BOP) มีแนวโน้มลดลง
อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนในบางช่วง ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนนอกระบบ
5. การแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 เช่น ปัญหาการว่างงาน การฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
6. การแก้ไขการบริหารจัดการของรัฐให้มีประสิทธิภาพ โดยการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด รวมทั้งการปรับปรุงและ
สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุน
7. การมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ส่งเสริมวิชาชีพ และความเป็นมืออาชีพ พร้อมทั้ง การยกระดับเป็นทันสมัยยุค 4.0
และ New Normal

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 15 ม.ค. 2564
https://laoedaily.com.la/2021/01/15/88644/
และเว็บไซต์ Laopost วันที่ 14 ม.ค. 2564
 https://bit.ly/3p8bYrQ

01/22/2021



กลับหน้าหลัก