เกาะติดข่าว

สปป. ลาวจะพัฒนาโครงข่ายคมนาคมแบบ 3911

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 นายเวียงสะหวัด สีพันดอน เลขาคณะบริหารงานพรรคกระทรวงโยธาธิการ และขนส่ง สปป. ลาว
รายงานเกี่ยวกับการเชื่อมโยงด้านคมนาคมและขนส่ง และการพัฒนาศักยภาพในการขนส่ง สินค้าผ่านแดนต่อที่ประชุมใหญ่
ผู้แทนทั่วประเทศ ครั้งที่ 11 ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงโยธาฯ เป็นส่วนสำคัญ
ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะการยกระดับ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง ดังนี้

1. ทางน้ำ
    1.1 ได้ลงนามความร่วมมือในการลงทุนพัฒนาท่าเรือหวุงอ่างกับเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเวียดนามได้เพิ่มหุ้น ให้แก่ สปป. ลาว
จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 60
    1.2 การปรับปรุงเครื่องหมายการเดินเรือ
    1.3 ศึกษาและสำรวจด้านเศรษฐกิจและเทคนิคในการปรับปรุงคลองเดินเรือจากเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้วถึงนครหลวงพระบาง
แขวงหลวงพระบางให้ได้มาตรฐานการเดินเรือ และสามารถรองรับเรือขนาด 500 ตัน เพื่อให้สามารถเดินเรือได้ตลอดปีแล้วเสร็จ
 
2. ทางอากาศ
     2.1 ขยายอาคารสนามบินวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ แล้วเสร็จ
     2.2 สานต่อการก่อสร้างโครงการก่อสร้างสนามบินหนองค้าง แขวงหัวพัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ ปลายปี 2564
     2.3 ปรับปรุงสนามบินห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว โดยยกระดับอาคารผู้โดยสารให้ทันสมัย
 
3. ทางรถไฟ ได้พัฒนาทางรถไฟ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
ของโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 94.15

นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 โดยการขนส่งผู้โดยสารระหว่าง ประเทศเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านคน
คิดเป็นร้อยละ 4.5 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
อนุภูมิภาค และนอกภูมิภาค ในอนาคตจะเน้นการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมเส้นทางแนวตั้ง 3 เส้น เส้นทางแนวนอน 9 เส้น
และเส้นทางเชื่อมต่อ 11 เส้น ที่ได้มาตรฐานเทคนิคของทางหลวงอาเซียน สร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี - สาละวัน)
สะพานข้ามน้ำโขงสำหรับทางรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ – หนองคาย ศึกษา สำรวจออกแบบ และก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง
นครหลวงเวียงจันทน์ – ฮานอย และสานต่อการก่อสร้างและให้บริการขนส่งทางรถไฟให้แล้วเสร็จ ระดมทุนก่อสร้างทางรถไฟ
นครหลวงเวียงจันทน์ – ท่าแขก – มูยา และศึกษาความเป็นไปได้เส้นทางรถไฟท่าแขก – สะหวันนะเขต – จำปาสัก – ชายแดนกัมพูชา
และจำปาสัก – วังเต่า

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า 15 ม.ค. 2564

01/22/2021



กลับหน้าหลัก