เกาะติดข่าว

อัตราเงินเฟ้อของ สปป. ลาวเดือน ธ.ค. 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.19
เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2562 และเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2563 ร้อยละ 0.35 เนื่องจาก การขาดแคลนสินค้าเกษตร
สืบเนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น
ตามแนวโน้มของราคาในตลาดโลก

หากเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค. 2562 ราคาสินค้าและบริการแต่ละหมวดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 โดยเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.44 ของใช้ในครัวเรือน
เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.84 โดยราคาสินค้าตกแต่งภายในเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.34 และสุขภาพและยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.93 โดยราคายาและ
อุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.57 หากเปรียบเทียบกับเดือน พ.ย. 2563 ราคาสินค้าและบริการในบางหมวดปรับตัวลดลง
โดยอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.66 ได้แก่ ข้าวสารร้อยละ 2.03 สัตว์ปีกร้อยละ 0.14 ผลไม้
ร้อยละ 0.35 และผักสดร้อยละ 3.36 ในขณะที่ราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 และเนื้อวัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.65 นอกจากนี้
ราคาสินค้าและบริการบางหมวดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.54 ของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 0.55 และสุขภาพและยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.29

อัตราเงินเฟ้อของ สปป. ลาวเริ่มสูงขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2562 โดยในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงที่สุด ในเดือน ม.ค. 2563 อ
ยู่ที่ร้อยละ 6.94 ก่อนจะลดลงเป็นร้อยละ 6.24 ในเดือน ก.พ. 2563 ร้อยละ 6.14 ในเดือน มี.ค. 2563 ร้อยละ 5.84 ในเดือน เม.ย. 2563
ร้อยละ 5.46 ในเดือน พ.ค. 2563 ร้อยละ 5.28 ในเดือน มิ.ย. 2563 ร้อยละ 5.12 ในเดือน ก.ค. 2563 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.84 
ในเดือน ส.ค. 2563 และปรับลดลงเป็นร้อยละ 4.63 ในเดือน ก.ย. 2563 ร้อยละ 3.63 ในเดือน ต.ค. 2563 และร้อยละ 2.84 ในเดือน พ.ย.

 ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2563 ผันผวน ได้แก่ (1) การอ่อนค่าของเงินสกุลท้องถิ่น โดยที่ผู้ประกอบการจำนวนมาก
ต้องพึ่งพาร้านรับแลกเปลี่ยนเงินเพื่อซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงอิงราคาผลิตภัณฑ์
ตามสกุลเงินต่างประเทศ (2) ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ลดลง การลงทุนและการส่งออกที่หดตัว (3) การขาดดุลการค้า
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศและค่าเงินกีบ และ (4) ปัญหาการว่างงานสูงหลังจากที่แรงงานลาว
หลายพันคนเดินทาง สปป. ลาวจากไทยสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด 19

นายทองลุน สีสุลิด กรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคและนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ได้รายงาน ต่อที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11
ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวว่า นับตั้งแต่ปี 2555 – พ.ย. 2563 อัตราเงินเฟ้อ ของ สปป. ลาวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.61 ต่อปี
และอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ โดยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในเดือน ก.ค. 2562
เป็นร้อยละ 6.94 ในเดือน ม.ค. 2563 ในปี 2559 – พ.ย. 2563 หมวดที่มีราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงมากที่สุดโดยเฉลี่ย
คือ อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 3.81 เครื่องนุ่มห่มและรองเท้าร้อยละ 3.61 สุขภาพและยาร้อยละ 2.25
ของใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 2.01 และไปรษณีย์และโทรคมนาคมร้อยละ 1.58 ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการดังกล่าว
ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการบริการ และทำให้ราคาสินค้า ผัก และเนื้อสัตว์
เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ขีดความสามารถในการผลิตสินค้าภายในประเทศของ สปป. ลาวยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการ
ของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคส่วนใหญ่จากต่างประเทศ ซึ่งราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น
จากการอ่อนค่าของเงินกีบ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินกีบอ่อนค่าเกิดจากการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การผลิตสินค้าภายในประเทศ
ยังไม่เข้มแข็งและไม่เพียงพอต่อความต้องการ กอปรกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทแข็งค่าขึ้นในตลาดโลก
ทั้งนี้ รัฐบาล สปป. ลาวมุ่งมั่นที่จะควบคุมให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 6 อัตราแลกเปลี่ยน ± ร้อยละ 5
เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินสำรองระหว่างประเทศครอบคลุมการนำเข้าไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และควบคุมปริมาณเงิน
M2 โดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. Vientiane Times วันที่ 16 ม.ค. 2564
https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Business/Business_Inflation_11.php
และเว็บไซต์ laopost วันที่ 19 ม.ค. 2564 https://bit.ly/36fCmbD

01/29/2021



กลับหน้าหลัก