เกาะติดข่าว

สปป. ลาวกำหนดทิศทางและแผนงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการคลัง

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการ และการลงทุน สปป. ลาว
รายงานต่อที่ประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 1 ของสภาแห่งชาติชุดที่ 9 เกี่ยวกับร่างวาระแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจและการคลัง (2564 - 2566)
ว่า ปัญหาเศรษฐกิจและการคลังได้ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 7
ในปี 2559 เป็นร้อยละ 3.3 ในปี 2563 และเกิดปัญหาการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคเนื่องจากขาดสภาพคล่องและเงินหมุนเวียน
ในระบบเศรษฐกิจ ระดับหนี้สิน เพิ่มสูงขึ้นทั้งในระบบเงินตราและการคลัง

ปัญหาทางเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) พื้นฐานเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกเป็นหลัก
และไม่สามารถสร้างฐานสะสมทุนภายในประเทศได้เพียงพอและมั่นคง (2) การขาดดุลงบประมาณในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ในภูมิภาค โดยคิดเป็นร้อยละ 5 - 10 ของ GDP (3) หนี้สาธารณะสะสมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 ของ GDP (4) การขาดดุล
การชำระเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และ (5) การขาดสภาพคล่องในระบบการเงินและการธนาคาร สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหา
เศรษฐกิจและการคลัง ได้แก่ (1) การปฏิบัติตามแนวทางและนโยบายท้องถิ่นมีความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และขาดความรับผิดชอบ
ต่องานที่ได้รับมอบหมาย (2) การคุ้มครองรัฐตามกฎหมายของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นขาดความเข้มงวด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ
ในระบบเศรษฐกิจและการคลัง รวมทั้งปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะการละเมิดวินัย ทางการเงิน ทำให้เกิดช่องโหว่และการรั่วไหลของงบประมาณ
การไม่เคารพระเบียบ การอนุมัติและการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หนี้สินเพิ่มสูงขึ้น (3) การบริหารรัฐที่มีหลายขั้นตอน
แบ่งการคุ้มครองไม่ชัดเจน และขาดการประสานงานระหว่างกัน (4) การส่งเสริมให้ประชาชนและนักธุรกิจมีส่วนร่วมในภาคการผลิตและ
การบริการยังไม่ได้ผลตอบรับที่ดี

ดร. สอนไซฯ จึงเสนอความคิดเห็นในการดำเนินวาระแห่งชาติ เพื่อให้สามารถกลับสู่สภาวะปกติ ในปี 2566 โดยมีเป้าหมายจะสร้างกลไก
นโยบาย และระเบียบต่าง ๆ แก้ไขข้อคงค้างที่เป็นสาเหตุของปัญหาในช่วงปี 2564 - 2566 และจากนั้นจะประเมินและกำหนดทิศทางแก้ไข
ในปี 2567 - 2568 โดยวาระแห่งชาติฉบับดังกล่าวตั้งเป้าหมาย ดังนี้

1. การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีจากนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อปี เสริมเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ลดการขาดดุลงบประมาณ
ไม่เกินร้อยละ 5 ของ GDP สถานะการชำระเงินปกติกับต่างประเทศเกินดุลในระดับเฉลี่ยร้อยละ 2 ของ GDP ต่อปี สถานะการชำระรวมกับ
ต่างประเทศเกินดุลทุกปี ส่วนต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐของธนาคารและตลาดอยู่ในระดับไม่เกิน
ร้อยละ 2 ในปี 2566

2. ขยายฐานการผลิตภายใน โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปที่มีศักยภาพเพื่อทดแทน การนำเข้าและขยายฐานการส่งออก
สินค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่ได้เจรจาและลงนามแล้ว เพื่อให้ สปป. ลาวเป็นสังคมการผลิตอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 2 – 3 ปี
และในปี 2566 คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหา ด้านงบประมาณรัฐได้ และก้าวไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคง

3. ขยายฐานรายรับภายในให้ได้เกินร้อยละ 15 ของ GDP ลดรายจ่ายงบประมาณที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น แก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ
ที่จำเป็นในช่วง 2 ปีจากนี้ แก้ไขหนี้สินภายในจำนวนหนึ่งรวมทั้งหนี้สินรัฐวิสาหกิจ และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสถาบันการเงิน
ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยให้ระดับความเพียงพอของทุนของอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง
(Capital Adequacy Ratio- CAR) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและระดับความเพียงพอของทุนของธนาคารพาณิชย์ของรัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.4
ในปี 2563 และอัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ (Return on Equity– ROE) เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 6.4 ในปี 2563 และ
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset- ROA) เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 0.28 ในปี 2563

4. สามารถให้บริการให้แก่ภาคการผลิตอย่างทั่วถึง (ประชากรอายุ 18 ปีขึ้นมีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42
ในปี 2563 เป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดในปี 2566) และระดับการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ต่อจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด
เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 33 ในปี 2566

5. ยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารรัฐ เศรษฐกิจ และสังคมด้วยกฎหมายและปรับปรุงดัชนีความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ
ของ สปป. ลาวให้ดีขึ้น

ดร. สอนไซฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนงานที่จำเป็นเร่งด่วน 5 แผนงาน ได้แก่ (1) ส่งเสริม การผลิตเพื่อทดแทน
การนำเข้าและเป็นสินค้าส่งออกเพื่อสร้างฐานรายรับที่มั่นคงและยั่งยืน (ยกระดับไปสู่สังคม การผลิต) (2) สร้างความเข้มแข็ง
ในการจัดเก็บรายรับงบประมาณ (3) ส่งเสริมการประหยัด ยกระดับประสิทธิภาพการลงทุน รายจ่ายงบประมาณ และแก้ไขหนี้
ภายในและต่างประเทศ (4) สร้างเสถียรภาพทางการเงิน และ (5) เพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองรัฐด้วยกฎหมาย

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. ประชาชน วันที่ 6 ส.ค. 2564
http://www.pasaxon.org.la/pasaxon-detail.php?p_id=5434&act=economic-detail

08/13/2021



กลับหน้าหลัก