เกาะติดข่าว

รัฐบาล สปป. ลาวกำหนดวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ - การคลัง

นายบุนโจม อุบนปะเสิด รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว ชี้แจงต่อข้อซักถามของสมาชิกสภาแห่งชาติลาวเกี่ยวกับ
มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ - การคลังว่า กระทรวงการเงิน สปป. ลาวจะสร้างและปรับปรุงกฎระเบียบด้านการคลัง 3 ฉบับ
ได้แก่ ร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเพิ่มทวีการคุ้มครองและลดการรั่วไหล ของรายรับงบประมาณแห่งรัฐ ร่างดำรัสว่าด้วย
การประหยัดและลดการฟุ่มเฟือย และร่างดำรัสว่าด้วยรถของรัฐ ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมรัฐบาลเปิดกว้าง ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา
และเป็นเอกสารแนบของร่างวาระแห่งชาติเพื่อให้สมาชิกสภาแห่งชาติได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. จัดเก็บเงินค้ำประกันโครงการพัฒนาเหมืองแร่ (แร่เหล็ก) และส่งออกแร่เหล็กแบบทดลองเข้างบประมาณ แห่งรัฐแบบมอบเหมา
ล่วงหน้ามีระยะเวลาทดลอง 3 ปี ซึ่งเป็นนโยบายและกลไกใหม่ในการจัดเก็บรายรับ ที่รวดเร็วและเพิ่มมากขึ้น โดยใช้แทนการจัดเก็บ
รายรับแบบเทียบฐานซึ่งได้กำหนดไว้ในบางมาตราของกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่ 30 ก.ค. 2564 มีโครงการที่ได้ชำระเงินค้ำประกัน
ล่วงหน้าแล้วทั้งหมด 9 โครงการรวมมูลค่า 10.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 55 พันล้านกีบ อย่างไรก็ตาม สัญญาสัมปทานได้กำหนด
ให้ชำระเงินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสภาพคล่องของเงินตราต่างประเทศในระบบธนาคารไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องรับ
ชำระเป็นเงินกีบ เมื่อดำเนินการขุดค้นและส่งออกแล้วจะต้องนำมาแลกเปลี่ยนคืน และชำระให้รัฐเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ

2. กระทรวงการเงินจะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะเพื่อลดความกดดันและให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
เพื่อสร้างพื้นฐานให้กับการบริหารหนี้สินในระยะกลางและยาว

3. เร่งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยได้ศึกษาการร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาวิสาหกิจรัฐลงทุน ปี 2568 และวิสัยทัศน์ ปี 2573
รวมทั้งแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ 5 ปี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจรัฐลงทุนให้มีผลกำไร ทุนสะสม และสามารถดำเนิน
ธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะจัดลำดับวิสาหกิจที่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปโดยเร็ว เช่น รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว
รัฐวิสาหกิจการบินลาว

4. ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการคลังให้ทันสมัย ด้านรายรับได้มีการพัฒนาและใช้ระบบ การทำพิธีการศุลกากร
ขาเข้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ติดตั้งระบบที่ด่านศุลกากรที่ด่านสากลแล้ว 24 แห่ง และ เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 แห่ง
เพื่อให้บริษัทนำเข้า - ส่งออก สามารถยื่นชำระภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง และชำระเงินผ่านระบบธนาคารซึ่งการพัฒนา
ระบบดังกล่าวช่วยให้มีการชำระภาษีมากขึ้น


ต่อมา ที่ประชุมสมัยวิสามัญของสภาแห่งชาติ ชุดที่ 9 เมื่อต้น ส.ค. 2564 มีมติรับรองรายงานของรัฐบาลเกี่ยวกับวาระแห่งชาติ
ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ - การคลัง โดยวาระแห่งชาติฉบับดังกล่าวตั้งเป้าหมาย ดังนี้

1. หนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 64.2 ของ GDP โดยหนี้ต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 55.3 ของ GDP และ หนี้ภายในประเทศ
ไม่เกินร้อยละ 8.9 ของ GDP

2. เงินสำรองระหว่างประเทศครอบคลุมการนำเข้าไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ลดความแตกต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร
กับตลาดให้ไม่เกินร้อยละ 2 ควบคุมอัตราส่วนหนี้เสีย (NPLs) ให้ไม่เกินร้อยละ 3

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองแผนงานที่จำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล 5 แผนงาน และได้ปรับปรุงเนื้อหาตามความเห็น
ของที่ประชุม ดังนี้

1. ส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและเป็นสินค้าส่งออก โดยใช้ศักยภาพและความเชื่อมโยง ตามระเบียงเศรษฐกิจ
ในและนอกภูมิภาค เพื่อสร้างฐานรายรับและเศรษฐกิจให้มั่นคงและยั่งยืน

2. สร้างความเข้มแข็งในการจัดเก็บรายรับเข้างบประมาณ โดยพัฒนาการจัดเก็บรายรับให้ทันสมัย เพื่อให้จัดเก็บได้ครบถ้วน
ลดการรั่วไหลของงบประมาณ พร้อมทั้งขยายฐานรายรับใหม่ที่มีศักยภาพ ปรับปรุงนิติกรรม และกลไกการบริหารและบุคลากร
ให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

3. เพิ่มประสิทธิภาพด้านรายจ่ายงบประมาณของรัฐ เช่น สร้างยุทธศาสตร์และสร้างแผนการจัดการหนี้สาธารณะ หาแหล่งทุน
เพื่อชำระหนี้ที่ยั่งยืน แก้ไขหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน ส่งเสริมการประหยัด ลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย และจำกัด
รายจ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็น

4. สร้างเสถียรภาพทางการเงิน เช่น ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน สร้างคลังเงินสำรองระหว่างประเทศ ลดหนี้เสีย
สร้างความเข้มแข็งให้ระบบคุ้มครองเงินตราต่างประเทศ

5. เพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองรัฐด้วยกฎหมาย

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า 11 ส.ค. 2564 และ นสพ. เศรษฐกิจการค้า 13 ส.ค. 2564

08/19/2021



กลับหน้าหลัก