เกาะติดข่าว

การพัฒนา E-Commerce ใน สปป. ลาว

การค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Commerce มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยนโยบาย
การพัฒนา E-Commerce ใน สปป. ลาว พบว่าการพัฒนาด้าน E-Commerce ของ สปป. ลาวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการทำ E-Commerce โดยเฉพาะระบบ ICT ระบบชำระเงิน และระบบขนส่งยังพัฒนา
ช้ากว่าหลายประเทศ

รายงานวิจัยนโยบายการพัฒนา E-Commerce ใน สปป. ลาว ของ ดร. จันผาสุก วิดาวง ร่วมกับแผนกค้นคว้านโยบายการค้า
สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ได้นำเสนอปัจจัยสำคัญในการพัฒนา
E-Commerce ดังนี้

1. โครงสร้างพื้นฐานธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (E-Business Infrastructure) ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการค้าขายผ่านระบบ
อิเล็กทรอนิกส์มีความจำเป็นต้องมีระบบ ICT ที่รองรับให้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับสากล อินเทอร์เน็ตต้องมีความเร็วสูง
และมีความเสถียร ประชากรต้องเข้าถึงและรู้จักการใช้โทรศัพท์ที่สามารถรองรับระบบดิจิทัลมากขึ้น เมื่อเทียบตัวชี้วัดดังกล่าว
พบว่า สปป. ลาวยังอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน

2. การปกป้องข้อมูล ปัจจุบัน สปป. ลาวได้ประกาศใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลแล้ว เช่น กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรม
ทางอินเทอร์เน็ต กฎหมายว่าด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยการปกป้องข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรม
ทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและ การสื่อสาร ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับคุ้มครองข้อมูลดิจิทัล
สร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับภาคธุรกิจและความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปกป้อง
ข้อมูลของผู้ทำธุรกรรม E-Commerce ในรูปแบบต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้อง
ข้อมูลให้แก่สังคมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลด้านกฎระเบียบ การฝึกอบรม การจัดตั้งเวทีการปรึกษา
หารือระหว่างภาคธุรกิจกับรัฐบาล

3. การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ปัจจุบัน สปป. ลาวมีระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ของสถาบัน
การเงินและธนาคารซึ่งมีความโดดเด่นและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามฝั่งผู้บริโภค เช่น ผู้ประกอบการ
และผู้ใช้สินค้าและบริการยังคงใช้ระบบการชำระเงินแบบเก่า (การจ่ายเงินสด) และยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน
เพราะการพัฒนาระบบการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ยังขยายตัวช้าเมื่อเทียบกับการค้าผ่านระบบออนไลน์ในปัจจุบัน
รวมทั้งยังไม่มีการจ่ายเงินล่วงหน้า Platformการค้าอิเล็กทรอนิกส์ใน สปป. ลาวส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นแหล่งให้ข้อมูล
เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ การโฆษณาและวิธีการจัดส่ง โดยรูปแบบการจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจ่าย
ผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรวีซ่ายังมีจำกัดผลการวิจัยชี้ ให้เห็นว่าความรับรู้ของภาคธุรกิจเกี่ยวกับการใช้และการจ่ายเงินดิจิทัล
ยังมีน้อย อีกทั้งค่าธรรมเนียมและค่าบริการยังสูงเมื่อเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค ข้อมูลจากธนาคารโลกปี 2563 ชี้ให้เห็นว่า
มีเพียงร้อยละ 1 และร้อยละ 13 ของประชากรลาวที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ถือครองบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นของตนเองตามลำดับ
กล่าวคือ ประชากรลาวส่วนใหญ่ยังนิยมใช้วิธีการชำระเงินสดหรือทำธุรกรรมแบบง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือและตู้ ATM

4. ด้านกฎระเบียบ ระเบียบบางฉบับเพึ่งประกาศใช้ใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจยังขาดความเข้าใจและยังไม่สามารถดำเนินการได้
ในแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะดำรัสว่าด้วยการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2564 และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้
บางระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริม E-Commerce ของ สปป. ลาวมีพัฒนาการช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียน
ในขณะเดียวกัน หลายประเทศในอาเซียนได้ยกระดับจากดำรัสเป็นกฎหมายว่าด้วยการค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ได้แก่ สิงคโปร์
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

การศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่านอกจากปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานและระเบียบในการคุ้มครองและส่งเสริมที่จำกัดแล้ว
ปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ก็มีส่วนสำคัญ เนื่องจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการใช้ระบบดิจิทัลในการบริหาร
จัดการทั้งในระดับเศรษฐกิจมหภาคและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจและการค้า
ไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน

โดยสรุป การพัฒนา E-Commerce ของ สปป. ลาวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ในมุมมองของนักวิจัยเห็นว่า ภาคธุรกิจมีความก้าวหน้า
มากกว่ากฎระเบียบ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน E-Commerce ยังขยายตัวช้าเมื่อเทียบ กับประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะระบบ ICT
ระบบการชำระ ระบบโลจิสติกส์ และการขนส่ง รวมทั้งรูปแบบการค้า ก็ยังมีจำกัด

สิ่งท้าทายในการพัฒนา E-Commerce ใน สปป. ลาวและสิ่งที่ควรดำเนินการต่อไป ได้แก่ (1) เร่งเผยแพร่ดำรัสว่าด้วย E-Commerce
(2) นำธุรกิจการค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบให้เป็นการค้าที่เป็นธรรมและมอบภาษีและค่าธรรมเนียมให้กับรัฐอย่างครบถ้วน
(3) ส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคธุรกิจให้เหมาะกับการพัฒนา ของธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
(4) เตรียมความพร้อมของหน่วยงานปกป้องผู้บริโภคและให้มีติดตามตรวจสอบการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม
(5) อำนวยความสะดวกการค้าผ่านแดนจากการซื้อขายผ่านระบบ E-Commerce ระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
พร้อมทั้งสร้างความปลอดภัยและระบบตรวจสอบสินค้า เข้า - ออกที่ทันสมัย

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า 23 ส.ค. 2564

09/03/2021



กลับหน้าหลัก