เกาะติดข่าว

ผลงานของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน

ท่ามกลางความท้าทายของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและความผันผวนทั้งในและนอกภูมิภาค รวมทั้ง การระบาดของโควิด 19
ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน (BCEL) จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ
กับความเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งศึกษาวิธีการแก้ไขและกำหนดทิศทางการดำเนินงานของภาคธนาคารในอนาคต
โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

1. อุปสรรคและความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของธนาคารการค้าฯ การระบาดของโควิด 19 ในวงกว้างส่งผลให้ธนาคารการค้าฯ
มีลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบและต้องเลื่อนชำระดอกเบี้ยและเงินต้น จึงส่งผลต่อสภาพคล่องและการดำเนินธุรกิจของธนาคาร
นอกจากนี้ การขยายตัวของสินเชื่อยังคงชะลอตัวและมีแนวโน้มที่จะมีหนี้เสีย (NPLs) เพิ่มขึ้น การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ที่เกิดขึ้นหลายระลอกทั้งในนครหลวงเวียงจันทน์และแขวงอื่น ๆ ส่งผลให้หลายสาขาของธนาคารต้องปิดให้บริการชั่วคราว
การให้บริการรับชำระผ่านบัตรเครดิต/เดบิตของธนาคารต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวมีปริมาณลดลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้
จากค่าธรรมเนียมการให้บริการ ในขณะเดียวกัน ธนาคารมีรายจ่ายเพื่อการป้องกันการระบาดของโควิด 19 เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ธนาคารการค้าฯ ได้รับแนวทางจากธนาคารแห่ง สปป. ลาวในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และยังได้รับความไว้วางใจ
จากลูกค้า ซึ่งสะท้อนผ่านส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากและสินเชื่อซึ่งอยู่ในลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น
โดยเฉพาะการใช้บริการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น BCEL One OnePay i-Bank
OneCash Wallet ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ธนาคารการค้าฯ มีมูลค่าทรัพย์สินต่อหนี้สิน 59,564,660 ล้านกีบ
เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.93 เงินกู้ขยายตัวร้อยละ 4.34 และเงินฝากขยายตัวร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

2. การบริการและผลงานที่ส่งเสริมให้ผลการดำเนินงานของธนาคารการค้าฯ ขยายตัว ในช่วงหลายปี ที่ผ่านมาธนาคารการค้าฯ
ได้พัฒนาการบริการให้ดีขึ้น เช่น ปรับปรุงและใช้ระบบโปรแกรม Core Banking HBS แล้วเสร็จเมื่อเดือน เม.ย. 2564
ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของการบริการได้หลายรูปแบบและเหมาะสมกับ ยุคปัจจุบันที่มีการให้บริการทางด้านการเงิน
(FinTech) พร้อมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น การพัฒนาระบบ IT ระบบการจัดเก็บสถิติ ริเริ่มการดำเนินโครงการ
Data Governance สร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการบริการและ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ
การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความสะดวก ตรวจสอบได้ มีความปลอดภัย และมีมาตรฐานสากล
การพัฒนาฟังก์ชันใน BCEL One ให้สามารถทำธุรกรรมได้หลายรูปแบบยิ่งขึ้น เช่น การสร้างฟังก์ชัน My QR FastCash
การถอนเงินด่วน การถอนเงินสดผ่านตู้ ATM โดยการสแกน QR Code รวมทั้งการให้บริการ OneCare เพื่อช่วยแก้ปัญหา
ให้ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง และการยกระดับ i-Bank เป็นเวอร์ชั่น 4 และการใช้ผลิตภัณฑ์ ATM BCEL UnionPay&Go
ที่สะดวกต่อการชำระค่าสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับต่างประเทศในการให้บริการชำระค่าสินค้าและ
บริการระหว่างประเทศ เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการด้วย QR Code ผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย
การชำระผ่านระบบ GLN ร่วมกับ KEB Hana Bank ของเกาหลีใต้ และการชำระค่าสินค้าด้วย QR Code ผ่าน
UnionPay QR WeChat Pay และ AliPay

3. การระบาดของโควิด 19 เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ธนาคารการค้าฯ ได้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดยแนะนำให้ลูกค้า
หันมาใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร เช่น BCEL One i-Bank OneCash Wallet และชำระค่าสินค้าและ
บริการผ่าน OnePay เพื่อลดการเข้าไปใช้บริการที่สาขาของธนาคารและการสัมผัสเงินสด นอกจากนี้ ธนาคารการค้าฯ
ยังคงพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ธนาคารดิจิทัล (Digital Banking)
ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของธนาคารการค้าฯ ปี 2564 – 2568 นอกจากนี้ การทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ธนาคารการค้าฯ มีลูกค้าหลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้น

4. การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาในอนาคต - ธนาคารการค้าฯ ได้จัดทำแผนรับมือในแต่ละด้านเพื่อประคับประคอง
การดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งปรับแผนธุรกิจและวางยุทธศาสตร์การพัฒนา ปี 2564 - 2568 โดยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น
การสร้างความเข้มแข็งทางด้านการเงินและความยั่งยืน การดำเนินตามเงื่อนไข และมาตรฐานสากล โดยเฉพาะหลักเกณฑ์
BASEL II การให้การบริการที่ทันสมัยและโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เน้นการพัฒนาบุคลากร
ให้มีความรู้รอบด้านและมีความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบริหาร
ความเสี่ยง โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ยกระดับโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง และสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 10,114 กีบ

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 7 ต.ค. 2564


ข้อมูลเพิ่มเติม

ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน เป็น 1 ใน 3 ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของรัฐ โดยอีกสองแห่ง คือ ธนาคารพัฒนาลาว
และธนาคารส่งเสริมกสิกรรม นอกจากนี้ ยังมีธนาคารพาณิชย์ที่รัฐร่วมทุน ได้แก่ ธนาคารร่วมธุรกิจ ลาว - เวียดนาม
ธนาคารลาว - ฝรั่งเศส และธนาคารลาวจีน

10/15/2021



กลับหน้าหลัก