เกาะติดข่าว

กระทรวงการเงิน สปป. ลาวออกมาตรการลดรายจ่ายของรัฐไตรมาส 4 ของปี 2564

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 นายบุนโจม อุบนปะเสิด รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว ออกแจ้งการ เกี่ยวกับมาตรการลดรายจ่าย
ของรัฐ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ดังนี้

1. การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้การดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 - 2568)
และแผนงบประมาณประจำปี 2564 เผชิญกับความท้าทาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ ของรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์
การจัดเก็บรายได้ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากต้องรอข้อมูลการจัดเก็บรายได้ จากท้องถิ่น ส่งผลให้การพิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณ
ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ถูกเลื่อนออกไปจากเดือน ก.ย. เป็นเดือน ต.ค. 2564

2. ให้ส่วนกลางและท้องถิ่นเบิกจ่ายเงินเดือน เงินนโยบายของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการบำนาญ ชำระหนี้สินในประเทศ
และต่างประเทศ รายจ่ายเงินสำรองรัฐบาล เงินสำรองท้องถิ่น รายจ่ายเงินลงทุน (โครงการก่อสร้าง) วงเงินเลื่อนจ่ายจากปี 2563 
และรายจ่ายที่จำเป็น โดยไม่ต้องรอการรายงานแผนงบประมาณไตรมาสที่ 4 ของปี 2564

3. ในการเบิกจ่ายเงินเดือนและเงินนโยบายต่าง ๆ ของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ต้องตรวจสอบจำนวนข้าราชการ และคลังเงินเดือน
ให้ชัดเจน กรณีมีวงเงินรายจ่ายเหลือสามารถปรับแก้และเฉลี่ยรายจ่ายภายในหน่วยงานด้านปกครอง การศึกษา และสาธารณสุข
หลีกเลี่ยงการเสนอแผนเงินเดือนเพิ่มเกินข้อมูลเบิกจ่ายจริง กรณีแผนรายจ่ายปลายปีไม่เพียงพอให้รายงานมายังส่วนกลาง
โดยรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดและส่งให้กรมงบประมาณแห่งรัฐพิจารณาและร่วมกับคลังเงินแห่งชาติทำการเบิกจ่ายจากส่วนกลาง

4. สำหรับรายได้ที่จัดเก็บเกินแผนปี 2563 ส่วนที่เหลือร้อยละ 50 จากการเก็บค่าธรรมเนียมอวยหนี้สามแจ ระยะที่ 1 ให้จัดสรร
งบประมาณดังกล่าวในการป้องกันและจัดการกับการระบาดของโรคโควิด 19 จากนั้นจึงจัดสรรงบประมาณสำหรับการชำระ
ค่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรคม การแก้ไขความยากจน การสร้างงานให้ประชาชน การส่งเสริมการจัดเก็บรายได้ การชำระหนี้
โครงการลงทุนของรัฐที่สภาแห่งชาติและสภาประชาชนแขวงรับรอง ไม่อนุญาตให้ใช้ในการจัดซื้อพาหนะ

5. การเคลื่อนย้ายเงินหรือดุลเงินในท้องถิ่นตามแผนขาดดุลในแต่ละเดือน ให้คลังเงินแห่งชาติร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
คำนวณรายจ่ายเงินเดือน เงินนโยบายและยอดเหลือจริงโดยละเอียดและสอดคล้องกับระเบียบ เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินเดือน
และเงินนโยบายได้ตามปกติ กรณีเงินไม่เพียงพอเนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บรายได้ ได้ตามแผน ให้คลังเงินส่วนท้องถิ่นร่วมกับ
หน่วยงานด้านงบประมาณศึกษามาตรการลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายบริหารปกติและรายจ่ายอื่น ๆ

6. ให้ดำเนินมาตรการและลดรายจ่ายบริหารปกติ ได้แก่ (1) ให้ส่วนกลางและท้องถิ่นเลือกเบิกจ่ายเฉพาะรายการที่จำเป็นเท่านั้น
โดยยังคงให้ยื่นเอกสารขออนุมัติและขอถอนเงินกับฝ่ายคลังเงินตามแผนงบประมาณ ที่เกี่ยวข้อง (2) งดการเสนอขออนุมัติเบิกจ่าย
สำหรับรายการที่คาดว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น รายจ่ายใน การเดินทางภายในประเทศและต่างประเทศ การประชุมและสัมมนา 
การรับรองแขก การจัดซื้อรายการใหม่ที่ไม่จำเป็น (3) ให้คลังเงินแห่งชาติและคลังเงินประจำท้องถิ่นตรวจสอบเอกสารก่อนเบิกจ่าย
ให้ถูกต้องตามระเบียบ สำหรับรายจ่ายที่คาดว่าจะไม่ได้ดำเนินการให้ยกเลิกออกจากระบบข้อมูลการเงิน (4) ไม่อนุญาตให้หน่วยงาน
ด้านงบประมาณยื่นเอกสารขอถอนเงินสำหรับแผนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะรายจ่ายด้านการบริหาร รายจ่ายการพัฒนา
บุคลากร รายจ่ายการจัดซื้อใหม่ที่ที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบ

7. สำหรับมาตรการลดรายจ่ายสำหรับเงินลงทุนของรัฐ ได้แก่ (1) ด้านรายจ่ายเงินลงทุนของรัฐปี 2564 ให้เบิกจ่ายจากวงเงินเลื่อนจ่าย
ปี 2563 (ยกเว้นโครงการพัฒนาบุคลากร) และสานต่อการปฏิบัติตามแผนรายจ่ายเงินลงทุนของรัฐปี 2564 (2) ไม่อนุญาตให้ส่วนกลาง
และท้องถิ่น (เจ้าของโครงการ) เสนอขออนุมัติและขอถอนเงินสำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในแผนลงทุนของรัฐปี 2564 
สำหรับวงเงินเลื่อนจ่ายปี 2563 ให้ฝ่ายแผนการและ ให้ฝ่ายงบงบประมาณและฝ่ายคลังเงินยุติการเบิกจ่ายและยกเลิกโครงการดังกล่าว
และลบออกจากระบบข้อมูลข่าวสารการเงิน

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 27 ต.ค. 2564

เงินนโยบายข้าราชการ หมายถึง เงินอุดหนุน ค่าล่วงเวลา ค่าเบี้ยเลี้ยง เงินอุดหนุนบุตร ค่าวิชาชีพ (ครู แพทย์) เป็นต้น

อวยหนี้สามแจ หมายถึง ทางออกที่รัฐบาล สปป. ลาวใช้ชำระหนี้ให้ลูกหนี้ด้วยการขอให้ธนาคารตัดหนี้กับลูกหนี้แล้วรับพันธบัตรรัฐบาลชำระหนี้แทน ธนาคารจึงกลายเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ส่วนลูกหนี้ก็จะถูกตัดหนี้ออกไปทั้งหมดไม่มีภาระผูกพันกับธนาคาร 


11/05/2021



กลับหน้าหลัก