เกาะติดข่าว

มันสำปะหลังและยางพารา พืชเศรษฐกิจใหม่ของ สปป. ลาว

สปป. ลาวเป็นประเทศที่ภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งรายได้หลักของประชาชน โดยในปี 2564 รายได้จาก ภาคการเกษตร
คิดเป็นร้อยละ 16 ของ GDP โดยรัฐบาล สปป. ลาวได้กำหนดให้แผนการส่งเสริมภาคการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช
เชิงพาณิชย์เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 - 2568) เพื่อให้สามารถ
ส่งออกสินค้าเกษตรได้อย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยพืชส่งออกหลักของ สปป. ลาว ได้แก่ มันสำปะหลัง
ยางพารา กล้วย กาแฟ (ยังไม่แปรรูป) ข้าวโพด และข้าว นอกจากนี้ การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อทดแทนการนำเข้า
ยังเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา ด้านเศรษฐกิจและการคลังอีกด้วย

ผลผลิตทางการเกษตรเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ สปป. ลาว ไม่เพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์
รวมทั้งเป็นแหล่งวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย โดย สปป. ลาวมีพื้นที่ และสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเพราะปลูก
พืชได้หลากหลายชนิด ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ตามข้อมูลการสำรวจสถิติเกษตรทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 ระบุว่า ในปี 2564
สปป. ลาว มีครัวเรือนที่ทำการเกษตรทั้งหมด 644,000 ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 48.94 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ
(1,315,760 ครัวเรือน) และตามการสำรวจและแบ่งเขตพื้นที่ด้านการเกษตรในระดับแขวงและเมืองทั่วประเทศ ระบุว่า สปป. ลาว
มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 4.5 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 19 ของพื้นที่ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย ได้แก่
 (1) พื้นที่ราบ เหมาะสำหรับการทำนา และปลูกพืชล้มลุกอายุสั้น เนื้อที่ประมาณ 2 ล้านเฮกตาร์ (2) พื้นที่ลาดชันปานกลาง
ชั้นดินลึกเหมาะแก่การปลูกพืช ที่เพื่อการบริโภค อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ผลไม้ พืชอุตสาหกรรมหรือพืชเศรษฐกิจ
ประเภทอื่นประมาณ 1.8 ล้านเฮกตาร์ และ (3) พื้นที่ดินที่เป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ใหญ่ประมาณ 0.65 ล้านเฮกตาร์
นอกจากนี้ ยังพื้นที่เป็นเขตป่าไม้พุ่มประมาณ 1.14 ล้านเฮกตาร์ที่สามารถเลี้ยงสัตว์ใหญ่ได้

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ราคาสินค้าประเภทพืชเพื่อการบริโภคและสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยการเพิ่มขึ้น
ของราคาสินค้าดังกล่าวส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของ สปป. ลาว ซึ่งในปี 2564 มันสำปะหลัง ยางพาราและกล้วย
กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับต้น ๆ โดยส่งออกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจาก 200.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2563 เป็น 274.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 36.39 ยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563
เป็น 269.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 17.3 และกล้วยเพิ่มขึ้นจาก 187.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 235.24
ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นร้อยละ 25.95 และในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 2565 สปป. ลาวส่งออกมันสำปะหลังไปไทยมูลค่า
218.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 89.52 ของมูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังทั้งหมดของ สปป. ลาว กล้วยมูลค่า
135,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการส่งออกกล้วยทั้งหมด โดยยังไม่มีตัวเลขการส่งออกยางพาราไปไทย

 รายการ
(ดอลลาร์สหรัฐ)            2561               2562                 2563                  2564               ม.ค. - พ.ค.2565
มันสำปะหลัง          85,489,000      111,491,000      200,947,000       274,084,000           244,029,000
ยางพารา               168,159,000     217,486,000     230,000,000       269,815,000          110,945,000
กล้วย                     111,999,000     197,842,000    186,776,000        235,242,000          125,122,000
 
ข้อมูล กรมนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว

การปลูกมันสำปะหลังใน สปป. ลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 สปป. ลาวมีเนื้อที่ปลูกมันสำปะหลัง 45,600 เฮกตาร์
สามารถผลิตได้ 1,513,920 ตัน และในปี 2563 ขยายเป็น 112,450 เฮกตาร์ ผลผลิตได้ 3,390,000 ตัน เนื่องจากอุตสาหกรรม
การแปรรูปมันสำปะหลังได้รับ ความนิยมอย่างมากเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ยา อาหารสัตว์ สารให้ความหวาน เครื่องนุ่งห่ม กระดาษและอื่น ๆ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่
อยู่ในแขวงไซยะบูลี รองลงมาได้แก่ สาละวัน จำปาสักและบอลิคำไซ ตามลำดับ ตลาดส่งออกมันสำปะหลังที่สำคัญของ
สปป. ลาวได้แก่ ไทย เวียดนาม และจีน จึงเป็นการบ่งชี้ว่าตลาดมันสำปะหลังมีโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องและ
มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของ สปป. ลาว ในอนาคต

 ขณะที่ ปัจจุบัน สปป. ลาวมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 294,123 เฮกตาร์ โดยส่วนใหญ่บริษัทลงทุนปลูกเองในรูปแบบ
เช่า-สัมปทานที่ดินจากรัฐจำนวน 131,610 เฮกตาร์ บริษัทส่งเสริมประชาชนปลูกแบบเกษตรพันธสัญญา Contract Farming
รูปแบบ 2+3 (2 คือประชาชนลงทุนในส่วนของที่ดินและแรงงาน +3 คือบริษัทลงทุนด้วยเงินทุน เทคโนโลยีและหาตลาดรองรับ)
จำนวน 59,758 เฮกตาร์และประชาชนปลูกเอง 102,755 เฮกตาร์ โดยยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท
อาทิ อุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องมือในชีวิตประจำวันและอื่น ๆ พื้นที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่
อยู่ในเขตภาคเหนือแขวงหลวงน้ำทาอุดมไซ รองลงมาคือภาคกลางและภาคใต้ ตามลำดับ ตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ
ของ สปป. ลาว ได้แก่ เวียดนาม จีนและไทย ด้วยความหลากหลายในการแปรรูปและความต้องการของตลาดทำให้ยางพารา
เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่น่าจับตามองของ สปป. ลาว เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามันสำปะหลังและยางพาราเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นสินค้า
ส่งออกที่สำคัญของหลายประเทศ ยางพาราและมันสำปะหลังยังถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ใน สปป. ลาวและยังเผชิญกับ
ความท้าทายหลายด้าน อาทิ (1) ชาวเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบการปลูกมันสำปะหลังแบบยั่งยืน
ส่วนใหญ่ปลูกตามธรรมชาติบางพื้นที่ได้ผลผลิตน้อยและไม่มีคุณภาพ จึงยัง ไม่ตรงตามความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม
แปรรูปที่ส่วนใหญ่ต้องการหัวมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพื่อปลูกมันสำปะหลังอีกด้วย
(2) ไม่มีมาตรการในการคุ้มครองราคาซื้อ-ขายยางพารา (3) ข้อจำกัดด้านแรงงานและเครื่องมือที่ทันสมัย (4) การจัดสรรการใช้
ที่ดินยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากบางพื้นที่ไม่ปลูกผลผลิตเพื่อการบริโภคชนิดอื่นให้มีความหลากหลาย อีกทั้ง
ความต้องการใช้ที่ดินสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ใช้ที่ดินเพื่อผลิตพืชเพื่อการบริโภคลดลง
และ (5) การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติยังเป็นสิ่งท้าทาย โดยเฉพาะปัญหาการเสื่อมโทรม
ของที่ดินเนื่องจากการใช้สารเคมี ที่เพิ่มขึ้นและอื่น ๆ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยและความท้าทายข้างต้น จึงต้องติดตามอย่าง
ใกล้ชิดถึงโอกาสและการเติบโตของพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญทั้งสองชนิดว่าจะสามารถเติบโตและเป็นทางเลือกให้กับ
เกษตรกรมากน้อยอย่างไรในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง
ยุทธศาสตร์การพัฒนากสิกรรมจนถึงปี 2568 และวิสัยทัศจนถึงปี 2573
https://eriit.moic.gov.la/researcheriitlao/
https://www.laophattananews.com/archives/125361

09/02/2022



กลับหน้าหลัก