เกาะติดข่าว

ภาพรวมเศรษฐกิจ ปี 2565 และภารกิจสำคัญด้านเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ปี 2566

เมื่อวันที่ 5-30 ธ.ค. 2565 สปป. ลาว จัดการประชุม สมัยสามัญครั้งที่ 4 ของสภาแห่งชาติชุดที่ 9 ณ ห้องประชุมใหญ่สภาแห่งชาติ
เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการคลังและการเงินของ สปป. ลาว ประจำปี 2565
 และคาดการณ์ปี 2566 ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและประชาชนทั่วไปรับทราบ สอท. จึงรวบรวมข้อมูลที่สำคัญด้านเศรษฐกิจและ
สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 สปป. ลาวได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง และจากสถานการณ์เศรษฐกิจ
ของโลกและภูมิภาค ซึ่งมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับเพิ่มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก
ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจลาวซึ่งนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปร้อยละ 100 ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น
และเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงมากใน สปป.ลาว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาแหล่งเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคา
เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จากสถานการณ์ข้างต้นส่งผลให้ สปป. ลาวขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และเงินสกุลกีบอ่อนค่าเมื่อเทียบกับ
เงินตราต่างประเทศสกุลอื่น

สปป.ลาว ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการคลังเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาล สปป. ลาว ได้กำหนดแนวทาง
แผนการดำเนินงาน และแผนงบประมาณเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่าง มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการรักษา
เสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลังของประเทศเพื่อไม่ให้ประเทศเข้าสู่วิกฤต รวมทั้งเสริมสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและ
การเงินของประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อให้มิให้เกิดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้กำหนดภารกิจสำคัญด้านเศรษฐกิจ
ไว้ 5 ประการ คือ

1. แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเป็นระบบ เพื่อให้สามารถผลักดัน การดำเนินการภายใต้
วาระแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมหภาคให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว โดยเน้นการจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามแผน หรือ มากกว่าแผน 3 ปีติดต่อกัน
ปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้แบบทันสมัยเพื่อลดการรั่วไหลในการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ดำเนินนโยบายประหยัด ลดการใช้จ่าย
ของรัฐที่ไม่เกิดประโยชน์ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นประเทศที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
รวมทั้งจัดสรรแหล่งเงินทุนเพื่อแก้ไขหนี้โครงการลงทุนของรัฐ เพื่อช่วยผู้รับเหมาโครงการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ นอกจากนี้
ยังเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพของการลงทุนของรัฐให้ดีขึ้น ยกเลิกการจัดสรรเงินทุนในโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเน้นการลงทุน
เพื่อแก้ไขความยากจนของประชาชนให้เป็นโครงการที่มีความสำคัญลำดับต้น ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
รวมถึงราคาสินค้า ปริมาณเงิน M2 และอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง

3. ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ได้กำหนดไว้ในแผนของการปฏิรูป รวมทั้งเจรจาเลื่อนการชำระเงินต้น
ดอกเบี้ย แสวงหาแหล่งกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ และลดการสร้างหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็น

4. เร่งปรับปรุงกลไกอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น โดยรัฐบาลพิจารณาประเด็นที่จะต้องไ
ด้รับการปรับปรุง รวมทั้งส่งเสริมโครงการลงทุนของต่างประเทศที่ได้รับการอนุมัติแล้วให้มีความคืบหน้า

5. จัดสรรแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อส่งออกให้เพิ่มขึ้น

รัฐบาล สปป.ลาว ได้กำหนดและปรับปรุงแผนงานอย่างต่อเนื่อง และพยายามปรับปรุงระบบต่าง ๆ ภายในประเทศเพื่อให้รัฐบาล
สามารถยกระดับเศรษฐกิจ และพัฒนาแนวทางการเติบโตของประเทศได้ตามเป้าหมาย ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ใน
ภาวะถดถอย จึงถือเป็นหนึ่งในความท้าทายอย่างยิ่งในการพา สปป. ลาวให้หลุดพ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนาและก้าวสู่
การเป็นประเทศกำลังพัฒนาในอนาคตอันใกล้

ข้อมูลอ้างอิง
https://laoedaily.com.la/2022/12/29/120022/
https://na.gov.la

02/01/2023



กลับหน้าหลัก