สถานการณ์การปลูกกล้วยใน สปป. ลาว
นครหลวงเวียงจันทน์กำหนดมาตรการเข้มงวดต่อการปลูกกล้วยของนักลงทุนต่างชาติ
เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2560 แผนกกสิกรรมและป่าไม้ นครหลวงเวียงจันทน์ ได้จัดการประชุมปรึกษาหารือ เรื่อง การกำหนดมาตรการคุ้มครองการปลูกพืช เนื่องจากระยะที่ผ่านมาได้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักและขาดมาตรการคุ้มครองที่เข้มงวด โดยมีหัวหน้าห้องว่าการเกษตรและป่าไม้ พร้อมด้วยนักลงทุนที่ปลูกกล้วยในนครหลวงเวียงจันทน์ เข้าร่วมประชุม
เจ้าหน้าที่แผนกกสิกรรมและป่าไม้ ฯ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ได้มีนักลงทุนจากประเทศจีน เข้ามาลงทุนปลูกกล้วยหอมในนครหลวงเวียงจันทน์เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันพบว่ามี 5 บริษัท ที่ปลูกกล้วยในเมืองสังทองและเมืองปากงึม อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบพบว่าบริษัททั้ง 5 ดำเนินกิจการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ ไม่มีใบอนุญาตลงทุน ไม่มีใบประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันพบว่าบางบริษัทไม่มีใบ จดทะเบียนวิสาหกิจหรือใบทะเบียนอากร
ในปี 2558 พบว่า ได้มีการใช้สารเคมีจนเป็นเหตุให้ปลาในแม่น้ำตอน เมืองสังทอง ตายเป็นจำนวนมาก และเดือนกันยายน ปี 2559 พบว่า แรงงานที่ดูแลสวนกล้วยบ้านเซียงแลท่า เมืองปากงึม จำนวน 5 ราย ใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืช และต้นเดือนมกราคม 2560 พบว่า ชาวบ้านที่ลงไปว่ายน้ำในแม่น้ำตอน เมืองสังทอง เกิดผื่นคันตามร่างกาย
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ประชุมได้มีมติให้ทุกบริษัทที่ปลูกกล้วยต้องมีเอกสารการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และออกมาตรการให้ทำลายภาชนะที่บรรจุสารเคมีอันตรายในเขตที่กำหนดไว้เท่านั้น หากมีจำนวนมากต้องนำไปทำลายในเขตที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับประกันว่าจะไม่ทำให้เกิดมลพิษและสารเคมีตกค้าง
การนำยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และปุ๋ยชีวภาพ มาใช้ในการปลูกกล้วย ต้องแจ้งรายละเอียดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ข้างต้นให้ชัดเจน และนำมาขึ้นทะเบียนต่อกรมปลูกฝัง นอกจากนี้ประชุมได้กำหนดมาตรการห้ามนำยาปราบศัตรูพืชที่เหลือจากการใช้ทิ้งลงในแม่น้ำอย่างเด็ดขาด และกำหนดให้แรงงานในสวนกล้วยสามารถใช้สารเคมีได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดจนสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยทุกครั้ง กรณีที่มีการละเมิดต่อข้อกำหนดดังกล่าวจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
หลายพื้นที่จะยุติการปลูกกล้วยจากชาวนักลงทุนต่างชาติ
นับตั้งแต่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนปลูกกล้วยใน สปป. ลาว ได้ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ และมีเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการปลูกกล้วยจำนวนมาก โดยเห็นพ้องต้องกันว่าต้องการให้นักลงทุนต่างชาติยุติการปลูกกล้วย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากแขวงไซยะบุลี ได้แจ้งให้นักลงทุนที่ปลูกกล้วยในแขวงไซยะบุลี ทั้ง 4 บริษัท ซึ่งมีเนื้อที่ปลูกกล้วยประมาณ 520 ไร่ ยุติการปลูกกล้วยภายในปี 2560 เนื่องจากระยะที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก และพบว่ามีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
เจ้าหน้าที่แผนกกสิกรรมและป่าไม้ แขวงอุดมไซ ระบุว่า แขวงอุดมไซไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาปลูกกล้วยเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เพราะการปลูกกล้วยต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ภาครัฐและประชาชนได้เท่าที่ควร อีกทั้งทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ทั้งนี้ แขวงอุดมไซมีเนื้อที่ปลูกกล้วยมากกว่า 5,000 ไร่ โดยเมืองแบงและเมืองรุนเป็นเมืองที่มีการปลูกกล้วยมากที่สุด หากครบกำหนดสัญญาสัมปทานก็จะไม่อนุญาตให้ต่อสัญญาโดยเด็ดขาด พร้อมกันนั้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 พบว่า แม่น้ำแบงได้เอ่อท่วมในหลายพื้นที่ของแขวง ฯ ทำให้สวนกล้วยบริเวณริมแม่น้ำแบงได้รับความเสียหายและเกิดสารเคมีรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ
ขณะที่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาปลูกกล้วยในเขตเมืองสังทองและเมืองปากงึมเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้าน อาทิ ปลาในแม่น้ำตอน เมืองสังทอง ตายโดย ไม่ทราบสาเหตุเป็นจำนวนมาก และปี 2558 – 2559 พบว่าแรงงานสวนกล้วยบ้านเชียงแลท่า 5 ราย ใช้ยาปราบศัตรูพืช และปี 2560 พบว่า ประชาชนที่ไปว่ายน้ำในแม่น้ำตอน เมืองสังทอง เกิดตุ่มคันตามร่างกาย จากผลกระทบข้างต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดการประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองและควบคุมการใช้สารเคมีของนักลงทุนต่างชาติให้ถูกต้องตามกฎหมายและออกมาตรการค่าปรับหรือออกคำสั่งให้หยุดกิจการทันที
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา พบปลาในแม่น้ำง้าว เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตายเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันหาสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยคาดว่าเกิดจากภาชนะที่บรรจุสารเคมีได้รั่วไหลลงสู่แม่น้ำ ขณะเดียวกันยังมีหลายพื้นที่ในภาคเหนือที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนปลูกกล้วย กซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันกำหนดมาตรการคุ้มครองอย่างเข้มงวด
ที่มา:
หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา, ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560
หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา, ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560
ที่มารูปภาพ:
http://oknation.nationtv.tv/blog/akom/2016/01/23/entry-1
02/20/2017