สปป. ลาวคาดจะหลุดพ้นจากสถานะ LDC ในการประเมินครั้งที่สอง
เมื่อวันที่ 8 - 9 ต.ค. 2562 กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว ร่วมกับองค์กรสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและการพัฒนา
(UNCTAD) จัดการประชุมเชิงปฺฏิบัติการภายใต้หัวข้อ “การประเมินความเปราะบาง และการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อผลักดัน
การสร้างความสามารถด้านการผลิตและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ” ณ โรงแรม Crowne Plaza Vientiane โดยมี
ดร. กิแก้ว จันทะบูลี รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว นาง Sara Sekkenes ผู้ประสานงานของ
องค์กรสหประชาชาติประจำ สปป. ลาว และนาย Patrick Osakwe หัวหน้าด้านการค้าและความยากจนของ UNCTAD
เป็นประธานร่วม
ดร. กิแก้วฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน สปป. ลาวกำลังเตรียมสรุปการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8
(2559 - 2563) และเตรียมจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2564 – 2568) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการหลุดพ้น
จากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) และการดำเนินการตามเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยปัจจุบัน สปป. ลาว
ได้ผ่าน 2 จาก 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ Gross National Income (GNI) และ Human Assets Index (HAI) แต่ยังไม่สามารถบรรลุ
Economic Vulnerability Index (EVI)
อย่างไรก็ดี จากการประเมินเมื่อปี 2561 คาดว่า สปป. ลาวจะผ่านการประเมินครั้งต่อไปในปี 2564 อย่างไรก็ตาม สปป. ลาว
ยังเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาหลายด้าน ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังพึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติ
โดยเฉพาะพลังงานและแร่ธาตุ การจ้างงานและรายได้ประชากรที่ยังไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาตัวเมืองและชนบท
อุตสาหกรรมแปรรูปและการบริการที่ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม การผลิตของภาคเอกชนยังมีไม่เพียงพอ สภาพแวดล้อม
ในการดำเนินธุรกิจยังไม่เอื้ออำนวย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างมีเสถียรภาพ คุณภาพ และยั่งยืน โดยเน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงและมีการจ้างงาน
อย่างเต็มส่วน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อ ต่อการทำธุรกิจใน สปป. ลาว
นาง Sara กล่าวว่า การปรับปรุงด้านสุขภาพและการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ สปป. ลาว หลุดพ้นจากสถานะประเทศ
พัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ในปี 2567 ทั้งนี้ สปป. ลาวควรกำหนดแนวทางพัฒนาประเทศ ที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน
ค.ศ. 2030 และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2564 - 2568) นอกจากนี้ UNCTAD ได้ให้การสนับสนุนศูนย์วิจัยนโยบายการพัฒนา
ใน สปป. ลาวอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ สปป. ลาวหลุดพ้นจากสถานะ LDC
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สปป. ลาวมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านการศึกษา สุขภาพ อายุคาดเฉลี่ย
และการขจัดความยากจน โดยรายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 350 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 เป็น 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2561 ตัวชี้วัด HAI เพิ่มขึ้นจาก 46.4 ในปี 2546 เป็น 72.8 ในปี 2561 ตัวชี้วัด EVI ลดลงจาก 60 ในปี 2552 เป็น 33.7
ในปี 2561 ซึ่งพัฒนาการในเชิงบวกนี้ทำให้ สปป. ลาวผ่าน 2 จาก 3 ตัวชี้วัด ในการหลุดพ้นจากสถานะ LDC
ที่มา: นสพ. Vientiane Times วันที่ 10 ต.ค. 2562 และ
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ วันที่ 10 ต.ค. 2562
https://www.vientianemai.net/khao/22633.html
10/21/2019